วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ภาคใต้

          ภาคใต้ เป็นภูมิภาคหนึ่งของไทย ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ทางใต้ของประเทศ ถัดลงไปจากบริเวณภาคตะวันตก (หรือภาคกลางขึ้นอยู่กับการจัดแบ่งของแต่ละหน่วยงาน) ขนาบด้วยอ่าวไทยทางฝั่งตะวันออก และทะเลอันดามันทาง ฝั่งตะวันตก มีเนื้อที่รวม 70,715.2 ตารางกิโลเมตร ความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 750 กิโลเมตร ทุกจังหวัดของภาคมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ยกเว้นจังหวัดยะลา

สภาพภูมิประเทศ

          พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีทิวเขาที่สำคัญ ได้แก่ ทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราช โดยมีทิวเขาสันกาลาคีรี เป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ทิวเขาในภาคใต้มีความยาวทั้งสิ้น 1,000 กิโลเมตร

          แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำท่าทอง แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำโกลก

          ภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรที่มีทะเลขนาบอยู่ 2 ด้าน คือ ตะวันออกด้านอ่าวไทย และตะวันตกด้านทะเลอันดามัน จังหวัดพัทลุงและจังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลภายนอก ชายหาดฝั่งอ่าวไทยเกิดจากการยกตัวสูง มีที่ราบชายฝั่งทะเลยาว เรียบ กว้าง และน้ำตื้น ทะเลอันดามันมีชายฝั่งยุบต่ำลง มีที่ราบน้อย ชายหาดเว้าแหว่ง เป็นโขดหิน มีหน้าผาสูงชัน
สภาพภูมิอากาศ

          ภาคใต้เป็นภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน และโดยที่ภูมิประเทศของภาคใต้มีลักษณะเป็นคาบสมุทรยาวแหลม มีพื้นน้ำขนาบอยู่ทั้งทางด้านตะวันตก และทางด้านตะวันออก จึงทำให้มีฝนตกตลอดปีและเป็นภูมิภาคที่มีฝนตกมากที่สุดของประเทศ ภาคใต้มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 27.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเคยขึ้นสูงสุดที่จังหวัดตรัง 60.12 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเคยต่ำสุดที่จังหวัดชุมพร 12.12 องศาเซลเซียส

ประวัติความเป็นมา         

          ตามหลักฐานทางโบราณคดีได้ระบุว่าแหลมมลายูเป็นศูนย์กลางการค้าขายมานาน และมีเมืองที่เจริญรุ่งเรืองหลายแห่ง เช่น ตักโกละ ลังกาสุกะ พานพาน ตามพรลิงค์ และศรีวิชัย อาณาจักรศรีวิชัย มีราชธานีอยู่ในเกาะสุมาตรา (ในปัจจุบัน) เป็นอาณาจักรแรกที่มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับดินแดนในแหลม มลายู โดยมีประเทศราชบนแหลมลายูหลายประเทศ คือ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ครหิ (ไชยา) ลังกาสุกะ (อยู่ในประเทศมาเลเซีย) เกตะ (ไทรบุรี) กราตักโกลา (ตะกั่วป่า) และปันพาลา (อยู่ในประเทศพม่า) พลเมืองนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งได้เผยแผ่มาในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13
         ภายหลังที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง เมืองตามพรลิงค์ ได้แยกตนเป็นอิสระโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นนครศรี ธรรมราช มีอำนาจปกครองเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สายบุรี ปัตตานี กลันตัน ปาหัง ไทรบุรี พัทลุง ตรัง ชุมพร บันไทสมอ สงขลา ตะกั่วป่า ถลาง และกระบุรี
            ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยอ้างสิทธิคุ้มครองเหนือรัฐมลายูทั้ง 4 คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และ ปะลิส โดยใช้วิธีปกครองแบบเมืองประเทศราช ให้สุลต่าน ของแต่ละรัฐ ปกครองกันเอง แต่จะต้องส่งบรรณาการ มาถวายพระมหากษัตริย์ไทย ตามกำหนดเวลา 3 ปีต่อครั้ง ฝ่ายไทย มีอำนาจ ควบคุมต่างประเทศ และได้ให้ความช่วยเหลือ แก่รัฐเหล่านี้ในกรณีที่ถูกรุกรานจากชาติอื่น รัฐบาลไทยใช้นโยบายออมชอม ปกครองรัฐมลายู และพยายาม กระชับการปกครอง เมื่อมีโอกาส พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ได้เสด็จเยือนมลายูหลายครั้ง และพยายาม ยกฐานะหัวเมืองเหล่านั้น เช่น ทรงยกฐานันดร ผู้ครองรัฐไทรบุรี เป็นเจ้าพระยา จัดให้เมืองไทรบุรี ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แทนที่จะขึ้น กับเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ เมื่อทรงปรับปรุงการปกครอง หัวเมืองจัดตั้ง มณฑลต่างๆ ก็โปรดฯ ให้ยกไทรบุรี ขึ้นเป็นมณฑล เมื่อ พ.ศ.2440 โดยรวมสตูลและปะลิส เข้าไว้ด้วย มีสุลต่าน เป็นข้าหลวงปกครองเอง และทรงใช้หลักจิตวิทยา พยายามให้เจ้าเมืองเหล่านั้น สวามิภักดิ์ต่อไทยมากขึ้น แม้จะปกครองกันเอง
             ในระยะเวลาก่อน พ.ศ.2443 รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเริ่มเข้ามามีอำนาจ ทางแหลมมลายู ก็ยอมรับ สิทธิของไทย ดังปรากฏ ในสนธิสัญญา ระหว่างไทยและอังกฤษหลายฉบับ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ.2369 ปฏิญญาลับ พ.ศ.2440 และข้อตกลง ปักปันเขตแดน พ.ศ.2442 อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ได้เกิดการโต้แย้งขึ้น ในบรรดาข้าราชการอังกฤษ ในมลายู และข้าราชการอังกฤษ ที่กรุงลอนดอน เกี่ยวกับสิทธิของไทย เหนือดินแดนมลายูอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะ กระทรวงอาณานิคม ของอังกฤษ มีนโยบายจะขยายอำนาจของตน ทางแถบนั้น ในระยะระหว่าง พ.ศ.2404-2423 ได้เกิดกรณีพิพาท ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ เรื่องมลายูหลายครั้ง ที่รุนแรงมาก ก็เช่นกรณีเรือรบอังกฤษ ระดมยิงตรังกานู เรื่องวิวาท กรณีเขตแดนเประและรามันห์ และเรื่องการปราบผู้ร้ายข้ามแดน พวกกบฏในปะหัง หนีเข้ามากลันตัน ตรังกานู อังกฤษส่งกำลังเข้ามาปราบ ถึงในเขตไทย แต่เหตุการณ์ต่างๆ สงบลงได้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอน ต้องการคบไทยเป็นมิตร จึงไม่ต้องการละเมิด สิทธิของไทยในมลายู แต่ไทยตระหนักดีว่า สิทธิของไทย เหนือมลายู ยังไม่มีหลักประกันที่แน่นอน
             การเจรจาทางการทูต ระหว่างไทยกับอังกฤษ อันเป็นผลให้ไทย ต้องสูญเสียดินแดนมลายู 4 รัฐทางใต้ รวมเนื้อที่ 15,000 ตารางไมล์ และประชากรกว่าห้าแสนคนแก่อังกฤษ หลังจากการต่อรองทางการทูตยืดเยื้อมาร่วม 9 ปี
              ในราวต้นปี พ.ศ.2443 เมื่ออังกฤษเริ่มปล่อยท่าที พยายามแผ่นอิทธิพล เข้ามาในรัฐไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ซึ่งเป็นแหล่ง ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก โดยเฉพาะแร่ดีบุก ทั้งนี้เพราะอังกฤษ เกรงกลัวอิทธิพลภายนอก คือ บทบาทของฝรั่งเศส ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพล ในแถบนี้บ้าง เริ่มจากกรณีขุดคดคอดกระที่ ฝรั่งเศสเคยส่งคนมาทาบทามรัฐบาลไทย สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอสัมปทานขุดคลองลัด เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ฝ่ายไทย บริเวณอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง แต่ครั้งนั้น ไทยไม่ยอมให้ เพราะเกรงว่า ฝรั่งเศสอาจเข้ามามีบทบาท บังคับเอาดินแดนนั้น เป็นอาณานิคมไปเสีย หรือมิฉะนั้น อังกฤษอาจถือโอกาส ยึดหัวเมืองภาคใต้ไปเลยก็ได้ มาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้รื้อฟื้นเรื่องนี้อีก แต่ไทยเพียงอนุญาตให้ทำการสำรวจได้เท่านั้น
               จากเหตุนี้ อังกฤษจึงรีบฉวยโอกาส เปิดการเจรจากับไทยใน พ.ศ.2444 เรื่องจัดตั้งที่ปรึกษา ประจำกลันตันและตรังกานู โดยอ้างถึงความไม่สงบต่างๆ ในรัฐทั้งสอง ซึ่งเป็นผลเสียหายแก่คนในบังคับของตน รวมทั้งการที่เจ้าผู้ครองรัฐ ให้สัมปททาน แก่คนชาติอื่น โดยไม่ปรึกษาความเห็นชอบ จากอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงกันในปฏิญญาลับ พ.ศ.2440 ไว้แล้ว เช่น การที่พระยากลันตัน ให้ชาวมลายู เช่าเก็บผลประโยชน์ ที่เกาะราดัง อังกฤษเห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการแผ่ขยายของ มหาอำนาจอื่น เช่น เยอรมัน จะเป็นอันตราย แก่การปกครองของตน ในแหลมมลายู จึงแนะนำให้ไทย จัดการปกครองตัวเมืองมลายู ให้เรียบร้อย โดยยินดี จะหาผู้ชำนาญงาน มาเป็นที่ปรึกษา ของรัฐมลายูทั้ง 3 ให้
              การเจรจาดำเนินไปเกือบ 2 ปี ไทยต้องประนีประนอม ลงนามให้ข้อตกลง เกี่ยวกับกลันตัน และตรังกานูใน พ.ศ.2445 ตามข้อตกลงไทย จะจัดตั้งที่ปรึกษาของไทย ไปประจำในรัฐเหล่านั้นเอง แต่ต้องได้รับความเห็นชอบ จากอังกฤษก่อน ที่ปรึกษาจะควบคุม กิจการต่างประเทศ และการให้สัมปทาน แก่ชาวต่างประเทศ เช่น นายเกรแฮม ที่ปรึกษาประจำรัฐกลันตัน นายวิลเลียมซัน ที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำรัฐตรังกานู ส่วนไทรบุรีนั้น ยังมีหนี้สินค้างอยู่กับไทย ไทยจึงต้องไปจัดการระบบการคลัง ในรัฐนี้ให้เรียบร้อย จะได้มีเงินคืนไทย แต่ที่ปรึกษาการคลัง เป็นข้าราชการอังกฤษจากอินเดีย ภายใต้การควบคุม ของไทยอีกทีหนึ่ง
             ท่าทีดังกล่าวข้างต้น พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า อังกฤษต้องการดินแดนเหล่านั้น โดยเปิดเผย ดังปรากฏว่าครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.2445 เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม (Sir Frank Swettenham) ข้าหลวงใหญ่ ของสหพันธรัฐมลายู ได้ทูลทาบทาม เป็นทำนองว่า อังกฤษต้องการได้ดินแดน หัวเมืองมลายูจากไทย การแสดงออกเช่นนี้ เป็นประหนึ่งสัญญาณเตือน ให้ฝ่ายไทยทราบว่า การเจราขั้นต้นจะไม่ยุติลง เพียงด้วยการจัดตั้งที่ปรึกษา ในกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรีเท่านั้น แต่การเจรจาคงต้องดำเนินต่อไป พร้อมกับข้อเรียกร้องของอังกฤษ
             นับจากปี พ.ศ.2444 รัฐบาลไทย ยังเปิดการเจรจากับอังกฤษ เรื่องผ่อนผัน สิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยรัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลอังกฤษ เลิกสิทธิพิเศษ ในการถอนคดีของกงสุล ในศาลต่างประเทศ ในภาคเหนือ ตามข้อตกลง ของสัญญาระหว่างไทย กับอังกฤษ พ.ศ.2426 เพื่อแลกกับการยอม ให้คนในบังคับอังกฤษทางภาคนั้น มีสิทธิซื้อขายที่ดิน ซึ่งเดิมซื้อไม่ได้ ในการเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายไทย ได้ยืนยันเรียกร้อง เฉพาะคนในบังคับอังกฤษ ที่เป็นชาวยุโรป และชาวเอเชีย ประการหนึ่ง และเพราะข้อแลกเปลี่ยน ที่ชาวอังกฤษยินยอม เลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ได้อีกประการหนึ่ง การเจรจาดังกล่าว จึงยุติลงโดยปราศจากผล หลังจากที่ทั้งสองฝ่าย พยายามต่อรองกัน เป็นเวลา 4 ปี (พ.ศ.2444-2448)
              พ.ศ.2449 รัฐบาลทั้งสอง เปิดการเจรจาใหม่ ครั้งนี้เป็นเรื่องการสร้างทางรถไฟ กล่าวคือ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทย เริ่มดำริสร้างทางรถไฟสายใต้ เพื่อกระชับการปกครอง หัวเมืองภาคใต้ ให้รัดกุมขึ้น เพราะบริเวณนั้น เป็นจุดอันตราย ในอิทธิพลของอังกฤษ จริงอยู่ ทางรถไฟสายนี้ จะเป็นประโยชน์แก่อังกฤษ เพราะอังกฤษ สามารถเรียกร้องเก็บผลประโยชน์ได้มาก ตามข้อตกลงในปฏิญญาลับ พ.ศ.2440 แต่ไทยหวังว่าผลดีอาจมีมากกว่า เพราะถ้ายกเลิกปฏิญญาลับแล้ว ทางรถไฟสายนี้ จะกลับเป็นคุณประโยชน์แก่ไทย ทั้งในการทางเมืองและเศรษฐกิจ
              ตามความดำริของนายกิตติน เจ้ากรมรถไฟหลวงของไทย ได้เป็นผู้เสนอ ให้สร้างทางรถไฟ ต่อจากเพชรบุรีไปทางใต้ ระยะทาง 530 ไมล์ แต่ในการสร้าง ต้องใช้เงินทุนประมาณ 3,000,000 - 4,000,000 ปอนด์ เดิมจะใช้เงินทุน ของประเทศ แต่เสนาบดีคลัง ทรงคัดค้านว่า เงินไม่พอ จึงวางแผนการ ขอกู้จากต่างประเทศ และประเทศที่ไทย อาจจะเจรจาด้วยได้ คือ รัฐบาลสหพันธรัฐมลายู ของอังกฤษ เพราะขณะนั้น มลายูกำลังวางโครงการหนึ่งปี สร้างทางรถไฟ จากสิงคโปร์ขึ้นมา จดเขตทางเหนือ ต่อกับเขตแดนไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก แก่รัฐบาลอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาขั้นแรก ทั้งสองรัฐบาลตกลงกันไม่ได้ เพราะอังกฤษ ไม่ยอมให้กรมรถไฟหลวงของไทย ดำเนินการ สร้างทางรถไฟเอง ด้วยเหตุผลว่า ข้าราชการ กรมรถไฟหลวง เป็นชาวเยอรมันส่วนใหญ่ และอังกฤษ เกรงกลัวอิทธิพลเยอรมัน จะรุกรานเข้ามา ทางใต้ของไทย
            การเจรจาทางการทูตดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ร่วม 7 ปี เริ่มคลี่คลายขึ้น เมื่อมีข้อเสนอ ยกดินแดนของไทย ในแหลมมลายู ให้แก่อังกฤษ ผู้ต้นความคิด คือ นายเอดเวิด สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามา รับราชการในไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2447 ในระยะนั้น ปัญหาต่างๆ ที่คั่งค้างกับอังกฤษ ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องรัฐมลายู จากการศึกษาเหตุการณ์ที่ผ่านมา สโตรเบลเห็นว่าสักวันหนึ่ง อังกฤษคงพยายาม หาวิธีการยึดดินแดนเหล่านี้ ไปจนได้ และเมื่อไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรจะหาประโยชน์ จากการเสียให้คุ้มค่า สโตรเบลไม่เห็นประโยชน์ที่ไทยจะเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้ไว้ โดยให้เหตุผลว่า
             "...รัฐบาลสยาม ไม่ได้รับประโยชน์อันใด จากรัฐเหล่านี้ กลับต้องรับผิดชอบ ในการจัดการบริหาร ของรัฐทั้งหลายนั้น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถ ปฏิบัติงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ในการควบคุมรัฐเหล่านั้น โดยปราศจาก การแทรกแซงของอังกฤษ ถ้าหากว่าไทย ยอมยกรัฐเหล่านี้ ให้อังกฤษไปแล้ว จะเป็นการตัดปัญหายุ่งยากได้ สถานการณ์ของไทย จะเข้มแข็งขึ้น เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ ในดินแดนส่วนที่ไม่ใช่ของไทยอีก การแทรกแซงจากอังกฤษ จะสิ้นสุดลง และไทย จะสามารถปกครองดินแดนส่วนที่เหลือได้ อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น"
              สโตรเบล พยายามย้ำให้เห็นผลเสีย ของแต่ละรัฐ เป็นต้นว่า ในทางปฏิบัติ กลันตันและตรังกานู ไม่เคยขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทย อย่างจริงจังเลย แม้ว่าจะทรงเคยแต่งตั้ง ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ไปประจำ เช่น ในปี พ.ศ.2437 ทรงโปรดฯ ให้พระยาทิพย์โกษา เป็นข้าหลวงไปประจำกลันตัน และตรังกานู และแม้ว่า พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงเคยเสด็จเยี่ยมเยียนรัฐเหล่านี้ เป็นการส่วนพระองค์แล้วก็ตาม รัฐบาลไทย ก็ยังไว้ใจสุลต่านได้ยาก ประกอบกับในระยะนั้น รัฐบาลอังกฤษ กำลังต้องการขยายอิทธิพล ขึ้นมาทางตอนเหนือ ของมลายูอีกด้วย เห็นได้จากการตกลงกับไทย แต่งตั้งที่ปรึกษาชาวอังกฤษประจำกลันตัน ในปี พ.ศ.2445 และเซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ ก็แสดงท่าทีสนับสนุน สุลต่านอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อ เซอร์ แฟรงค์ เดินทางไปกลันตัน ใน พ.ศ.2446 และเกลี้ยกล่อมสุลต่าน ให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลไทย โดยยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ คือ

   1. ให้กลันตันขึ้นตรงต่ออังกฤษ
   2. ให้สุลต่าน ส่งบรรณาการต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองให้รัฐบาลอังกฤษ 3 ปีต่อครั้ง
   3. รัฐบาลอังกฤษจะยอมให้กลันตันมีสิทธิปกครองตนเอง และ
   4. อังกฤษจะยินยอมให้สุลต่านปกครองตามศาสนาและประเพณีอิสลาม

             แม้ว่าสุลต่านกลันตัน ไม่เห็นดีด้วยในเวลานั้น เพราะเคยเป็นตัวอย่าง จากรัฐเประและรัฐปะหัง ว่า อังกฤษเข้าไปยุ่งเกี่ยว กับการเมืองภายใน ของรัฐทั้งสอง เซอร์ แฟรงค์ ก็สามารถชักจูงให้สุลต่านเปลี่ยนธงประจำรัฐ จากธงช้างของไทย ที่กลันตันเคยใช้อยู่ มาใช้ธงสีแดงแทน นอกเหนือไปจากการก้าวก่ายอำนาจ ของข้าหลวงอังกฤษ ประจำสิงคโปร์แล้ว บริษัทดัฟฟ์ ในกลันตัน ซึ่งคนอังกฤษ ได้สัมปทานเหมืองแร่ และดำเนินกิจการ เป็นผลประโยชน์ของอังกฤษอยู่ในรัฐนั้น มักมีเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์ กับที่ปรึกษาสุลต่านอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนา และการควบคุมกิจการ ของรัฐเป็นอย่างมาก ในรัฐตรังกานูก็เช่นเดียวกัน สุลต่านตรังกานู ไม่เคยยอมรับว่า รัฐบาลของตนอยู่ใต้อารักขาไทย เช่น ในปี พ.ศ.2445 เมื่ออังกฤษกับไทย ตกลงกันว่า จะส่งที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ไปประจำตรังกานู สุลต่านตรังกานู ไม่ยอมรับรู้การกระทำใดๆ ทั้งสิ้น และทางฝ่ายไทยเอง ไม่มีหนทาง หรืออำนาจไปบังคับสุลต่าน ให้ปฏิบัติตามได้ ที่ปรึกษาที่ไทยแต่งตั้งไป ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ
สำหรับไทรบุรีนั้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามดำเนินนโยบาย การปรับปรุงการปกครองในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงยกฐานะขึ้นเป็น มณฑลเทศาภิบาล ดังที่กล่าวแล้ว แต่ทางฝ่ายไทย ไม่สามารถจัดการปกครอง ให้มีประสิทธิภาพ เช่นหัวเมืองไทยอื่นๆ ได้ เพราะขาดกำลังคน ที่มีความสามารถ ไปจัดการปกครอง และขาดทุนทรัพย์ ในการพัฒนา นักปกครองที่เก่งๆ เช่น พระยาสุขุมนัยวินิต เทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราชมีน้อย ข้าราชการส่วนใหญ่ พูดภาษามลายูไม่ได้ และไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมศาสนาอิสลาม จึงเกิดการขัดแย้งกันขึ้นเสมอๆ ใน พ.ศ.2448 รัฐบาลไทยแต่งตั้งให้นายฮาร์ท (Hart) เป็นที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำไทรบุรี แต่ทำงานเข้ากับพื้นเมืองมลายูไม่ได้เลย และถูกกงสุลอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ที่ไทรบุรีเวลานั้น เขียนรายงาน ฟ้องเข้ามาเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่รายามุดา รัชทายาทของสุลต่านถึงอาสัญกรรมลงในปี พ.ศ.2449 เหตุการณ์กลับเลวร้ายลง เพราะสุลต่าน ประสงค์จะรวบอำนาจ เอาไว้เอง และพยายามลดอำนาจที่ปรึกษาลง
               จากสถานการณ์ ที่ไม่น่าไว้วางใจ เรื่องบริษัทดัฟฟ์ ในกลันตัน เหตุการณ์ในไทรบุรี หลังอาสัญกรรม ของรายามุดา และท่าทีแข็งกร้าว ปราศจากความเป็นมิตร ของสุลต่านตรังกานู ทำให้สโตรเบล มีความคิดเห็นว่าเมืองไทย ไม่ควรเสียเวลา หาหนทางปกครอง ดินแดนเหล่านี้ ถ้าเมืองไทยยอมทิ้งดินแดนนี้เสีย อาจจะช่วยให้การปกครองเมืองอื่นๆ ทางใต้ มีประสิทธิภาพ และรัดกุมยิ่งขึ้น นายสเวทการ์ด ชาวอเมริกันอีกผู้หนึ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ได้เดินทางไปดูงานปกครอง หัวเมืองปักษ์ใต้ ในระยะเวลานั้น เห็นพ้องต้องกันกับสโตรเบลว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยควรจะปลดเปลื้องภาระการปกครอง หัวเมืองมลายูเสีย
             ก่อนเปิดการเจรจากับอังกฤษ สโตรเบล ปรึกษากับนายแพชยิต ราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่อาจดำเนินการได้ เพราะขณะนั้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองอยู่ จะปรึกษาเฉพาะกับกรมหลวงเทวะงวศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ หรือกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง ต้องรอพระราชวินิจฉัย และพระบรมราชโองการ จากพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง นอกจากนี้ สโตรเบลยังรู้สึกลังเล ที่จะแนะนำให้รัฐบาลไทย ตกลงยกดินแดนของรัฐมลายู ให้แก่อังกฤษ เพราะวิตกว่า รัฐบาลไทย อาจจะไม่ยอมเสียดินแดน เพราะไม่แน่ใจว่า จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่สมควร อย่างไรก็ตาม สโตรเบลรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของตน ที่จะต้องตรวจพิจารณาดู อย่างถี่ถ้วนว่า ได้หรือเสียประโยชน์เท่าใด ดังปรากฏในบันทึกส่วนตัวว่า
              "...โดยหน้าที่ ข้าเจ้าไม่อาจเสมอเรื่องราวใดๆ จนกว่าข้าพเจ้าจะแน่ใจว่าจะต้องสำเร็จ"
              สโตรเบล รออยู่จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ.2450 จึงนำเรื่องราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเสนอความคิดเห็น ในการทำสนธิสัญญาครั้งใหม่นี้ พร้อมทั้งเหตุและผลต่างๆ และอ้างถึงสนธิสัญญา ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ.2449 ซึ่งฝรั่งเศส ยอมผ่อนผันเรื่องสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต โดยยอมให้คนในบังคับฝรั่งเศส ที่เป็นชาวเอเชีย ทั่วราชอาณาจักรไทย ขึ้นตรงต่อศาลไทย เพื่อแลกกับดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ สโตรเบล ต้องการให้ไทย แลกดินแดนมลายู กับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เหนือคนในบังคับอังกฤษ
               สโตรเบลกราบบังคมทูลเสนอ ให้ยกดินแดนเพียง 3 เมืองเท่านั้น คือ ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู โดยชี้แจงให้พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรดาเสนาบดีเห็นว่า การยกดินแดนมลายูให้อังกฤษนั้น จะทำให้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับดินแดนเหล่านี้ หมดไปโดยอัตโนมัติ จริงอยู่ การเสียดินแดนมลายูให้อังกฤษนั้น จะทำให้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับดินแดนเหล่านี้ หมดไปโดยอัตโนมัติ จริงอยู่   การเสียดินแดนถือเป็นการเสียเกียรติภูมิของชาติ แต่รัฐบาลไทย ควรจะนึกถึงความจริงที่ว่า ดินแดนเหล่านี้จะหลุดพ้น ไปจากอำนาจของไทยแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น และยิ่งนานวันไป ก็อาจจะสูญเสีย โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนเลย สโตรเบลใช้เหตุผลธรรมดาๆ ว่าเปรียบเสมือนคนที่เป็นโรคร้ายที่แขนขา ก็ควรจะตัดเนื้อร้ายออกไปเสีย ก่อนที่เชื่อโรคจะลุกลาม แพร่ไปตามส่วนอื่นของร่างกาย
  ทันทีที่สโตรเบลทูลเสนอ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วย เพราะถ้าพูดกันโดยจริงๆ แล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงเสียดาย ดินแดนเหล่านี้มากมายนัก ถ้าจะต้องทรงคิดอย่างหนัก ก็จะเห็นเป็นเพียงแต่ทรงเกรง "การเสียหน้า" เช่นเคยทรงปรารภว่า
                ....... เราไม่มีความประสงค์อันใด นอกจากที่จะให้หัวเมืองมลายู เป็นพระราชอาณาเขตชั้นนอก ติดกับฝรั่ง อีกประการหนึ่ง เมืองเหล่านี้ปรากฏว่า อยู่ในเขตของไทยจะตกไป แต่อังกฤษเข้ามาบำรุงเรา ก็ไม่ขาดทุนอันใด ชั่วแต่ไม่ได้ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่เป็นราคากี่มากน้อย แต่ยังรู้สึกว่าเป็นการเสียเกียรติยศอยู่.....
  และได้ทรงชี้แจง ให้สโตรเบลทราบว่า สำหรับกลันตัน และตรังกานูนั้น ฉันไม่รู้สึกว่า มีผลประโยชน์อะไรด้วย ขอให้ท่านจัดการอะไร ไปตามความประสงค์ได้
  หลังจากข้อเสนอยกดินแดนมลายูดังกล่าว รัฐบาลสองประเทศ เริ่มเปิดเจรจากันอีกครั้ง และได้นำเรื่องต่างๆ ที่ยังเจรจาคั่งค้างอยู่ มาพิจารณาพร้อมกัน รวม 4 เรื่อง คือ

   1. การโอนรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ
   2. การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทย
   3. การสร้างทางรถไฟสายใต้
   4. การยกเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897
จุดใหญ่ของการเจรจา คือ การที่อังกฤษ ยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ของคนในบังคับอังกฤษ เพื่อแลกกับรัฐมลายู ในอารักขาของไทย ต่างฝ่ายจึงต่างต้องการ ให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ในเรื่องสิทธิสภาพ นอกอาณาเขตนั้น สโตรเบล เสนอให้จัดการกับคนในบังคับอังกฤษ ที่เป็นชาวเอเชีย ตามแบบที่ตกลงกับฝรั่งเศสใน พ.ศ.2440 คือ คนเอเชีย ที่จดทะเบียนหลังวันเซ็นสัญญา จะต้องขึ้นศาลไทย แต่ถ้าจดทะเบียนก่อน ก็จะขึ้นศาลต่างประเทศ และเมื่อไทย ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว คนในบังคับเหล่านี้ จะต้องขึ้นศาลไทยทั้งหมด และได้รับสิทธิต่างๆ เป็นการตอบแทน แต่การที่จะให้อังกฤษ ยินยอมเช่นนี้ มิใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะอังกฤษ จะหมดอิทธิพลทางการเมือง ในบริเวณมลายู อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ไทย จะเรียกร้องเอาเฉพาะคนในบังคับ ที่เป็นชาวเอเชียก็ตาม อังกฤษเอง ไม่ต้องการแบ่งแยกชาวยุโรป ออกจากชาวเอเชีย ซึ่งหมายความว่า คนในบังคับอังกฤษทั้งหมด ในประเทศไทย จะต้องขึ้นศาลไทย อังกฤษจึงพยายาม เรียกร้องดินแดน ตอบแทนให้คุ้มกับผลประโยชน์ ที่ตนต้องสูญเสีย ปัญหาเรื่องดินแดน จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลทั้งสองฝ่าย ต่อรองกันมาก
             ข้อขัดแย้งที่ตกลงกันยาก คือ การที่จะกำหนดเขตแดนว่า ตรงไหนที่เป็นดินแดนในปกครองไทย และตรงไหนที่จะให้กับอังกฤษ ผู้เจรจาทั้งสองฝ่าย พยายามคำนึงถึงมูลฐาน ทางเชื้อชาติ และสภาพภูมิศาสตร์ แต่การพิจารณานั้น จะเป็นไปด้วยความยุติธรรมยาก เพราะผู้เจรจา ต่างต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ และเกียรติภูมิของชาติ ไปพร้อมๆ กัน ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ คือนายราฟ แพชยิต กงสุลอังกฤษ ประจำประเทศไทย แสดงเจตจำนงอย่างชัดแจ้งว่า ปัตตานี ระแงะ และราห์มัน ไม่ควรจะเป็นของไทย เพราะภาษา ศาสนา ประเพณี และผู้คนแตกต่างกับไทย
              อการแบ่งแยกดินแดน ระหว่างพวกที่นับถือมุสลิม และที่นับถือพุทธนี้ เป็นความใฝ่ฝัน ของข้าหลงวใหญ่อังกฤษ ประจำสิงคโปร์ มาหลายสมัยแล้ว นับตั้งแต่รัฟเฟิลส์ (Raffles) แบรดเดล (Braddell) เวล (Weld) สเวทเทนนั่ม (Swettenham) และโลว์ (Low)
               ตลอดเวลาการเจรจา นายแพชยิตทราบดีว่า ถึงแม้ไทย ต้องการจะประนีประนอม กับอังกฤษเพียงไร แต่ไทยจะไม่ยอมยกดินแดน นอกเหนือไปจากที่เสนอ ให้อังกฤษอย่างแน่นอน สโตรเบลเอง ได้อธิบายให้อังกฤษทราบ ถึงเหตุผลข องการยอมเสียดินแดนไว้ ในตอนแรกว่า ไทยมีเหตุผลสองประการด้วยกัน

   1. ไทยจะยกดินแดนเฉพาะที่เห็นว่า อำนาจของไทยครอบคลุมไปไม่ถึงเท่านั้น
   2. การแบ่งเขตแดนนั้น จะถือเอาสภาวะการปกครองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องภาษา ศาสนา หรือวัฒนธรรม

              ด้วยเหตุนี้ไทยจึงขอเสนอเพียง 3 รัฐ ได้แก่ ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายแพชยิต ก็ยังมิได้สิ้นความพยายาม และพากเพียรเจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ดินแดนเพิ่มขึ้น มีหลายครั้งที่การเจรจาถึงขั้นแรง จนเกือบจะต้องยุติการเจรจาทั้งหมด นายแพชยิต พยายามเจรจากับสโตรเบล อย่างไม่เป็นทางการว่า รัฐบาลอังกฤษ ต้องการดินแดนปัตตานี ยะลา สตูล และปะลิสด้วย เพราะเห็นแก่มนุษยธรรม ของประชาชน ในดินแดนนั้น แต่สโตรเบล ได้ตอบโต้ด้วยปฏิกิริยา ที่มึนตึงมาก เช่นกล่าวว่า
            "ถ้าท่านต้องการดินแดน เหนือไปจากนี้ ก็ขอให้เลิกการเจรจาทั้งหมด ข้าพเจ้าเอง มีความยุ่งยากใจมากพอแล้ว ในการทูลเรื่องเมืองไทรบุรีต่อพระเจ้าอยู่หัว และข้าพเจ้าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวมากไปกว่านี้"
            สำหรับสตูลและปัตตานีนั้น สโตรเบลชี้แจงว่ามีคนไทยอยู่ในสตูลมาก และไม่อาจจะแยกสตูลออกจากดินแดนไทยได้ ส่วนปัตตานีนั้นไม่อยู่ในประเด็นเลย เพราะคนไทยคงไม่ยอมแน่นอน
              ในการเจรจาระยะต่อมา สโตรเบลแสดงทีท่ายินยอมให้ฝ่ายอังกฤษมากขึ้น เช่น ยอมยกเมืองปะลิสเพิ่มให้อีกหนึ่งเมือง สร้างความประหลาดใจ ให้แก่แพชยิตมาก สำหรับการยกเมืองปะลิส ให้อังกฤษนี้ ยังหาหลักฐาน ที่แน่นอนไม่ได้ว่า เป็นเพราะเหตุใด อาจจะพอสันนิษฐานได้ว่าสโตรเบลเห็นว่าไทย ไม่มีผลประโยชน์อะไรในปะลิสอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ปะลิสเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีแน่นอน
         ไทยปฏิเสธเรื่องปัตตานีและยะลา ไปอย่างไม่มีเยื่อใยแล้ว แพชยิตก็หันไปเรียกร้องขอดินแดนอื่นอีก คือ ขอผนวกเมืองรามันห์ตอนใต้และเกาะลังกาวี แต่ยังยอมให้ไทยได้เกาะตะรุเตา และเกาะเล็กเกาะน้อยทางตะวันตกของลังกาวีไว้
         ระยะนั้น นายเวสเตนการ์ด เข้ามาดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แทนนายสโตรเบล ซึ่งถึงอนิจกรรมที่กรุงเทพฯ โดยกะทันหัน เมื่อต้นปี พ.ศ.2450 เวสเตนการ์ด กลับเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอล่าสุด ของนายแพชยิต เรื่องนี้อาจจะมีเหตุผลสองประการ

   1. ความรู้สึกที่รุนแรงเรื่องเสียดินแดนของคนไทยคงจะลดน้อยลง หลังจากอสัญกรรมของสโตรเบล
   2. ไทยกำลังเจรจาเรื่องสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - สิงคโปร์ กับรัฐบาลอังกฤษอยู่

            ฝ่ายไทยคงต้องการให้เรื่องสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จึงเสนอให้ราห์มันและเกาะลังกาวีแก่อังกฤษ โดยมีเงื่อนไขว่า อังกฤษจะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะกู้สร้างทางรถไฟ จากอัตราร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3.75
เมื่อประสบปัญหานี้ ทางฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ กลับมีความเห็นแตกแยกออกเป็นสองพวก พวกแรกมีเซอร์ จอห์น แอนเดอร์สัน ข้าหลวงใหญ่ประจำสิงคโปร์ เป็นหัวหน้า พวกนี้เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับข้อเสนอของไทย เพราะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ย ที่ลดลงร้อยละ 1 ส่วน 4 คุ้มค่ากับดินแดนราห์มัน และเกาะลังกาวี ที่อังกฤษจะได้ แต่เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แอนเดอร์สัน ขอระแงะ ซึ่งอยู่ติดกับกลันตันเพิ่มขึ้น แต่ฝ่ายนายแพชยิต กลับคัดค้านข้อเสนอนี้อย่างรุนแรง แพชยิตมองไม่เห็นว่า ดินแดนที่ไทยเสนอให้เพิ่มนี้ จะไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟ เพราะเป็นปัญหาคนละประเด็น เขากลับเห็นว่า อังกฤษเสียสละให้ไทยหลายเรื่องแล้ว เช่น เรื่องการที่จะยอมให้คนในบังคับอังกฤษ มาขึ้นศาลไทยแทนศาลกงสุล และการที่อังกฤษ ยอมให้ไทย มีอำนาจสิทธิ์ขาด เหนือเส้นทางรถไฟ ฉะนั้น อังกฤษควรจะได้ราห์มัน และเกาะลังกาวีเพิ่มขึ้นเฉยๆ โดยไม่ต้องเสียอะไรเป็นการตอบแทนดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟจะต้องคงไว้ในอัตราร้อยละ 4 เช่นเดิม แต่ให้ระงับข้อเรียกร้องขอระแงะ เพราะอาจจะทำให้ไทย ไม่พอใจและยุติการเจรจาได้
            รัฐบาลไทยยอมตกลง ตามข้อเสนอของแพชยิต ยกลังกาวีและราห์มันตอนใต้ให้อังกฤษ อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า ข้อยินยอมต่างๆ ของอังกฤษนั้น คุ้มค่าต่อการตกลงกันโดยสันติ เป็นต้นว่า การยอมรับให้คนในบังคับอังกฤษทั่วประเทศไทย มาขึ้นตรงต่อศาลไทย การสร้างทางรถไฟทางใต้ จากเพชรบุรีลงไปจนจดชายแดนมลายู และที่สำคัญที่สุดคือ การเลิกสัญญาลับระหว่างไทย - อังกฤษ พ.ศ.2440 เพราะตามสัญญานี้ ไทยยอมให้อังกฤษ มีสิทธิ์เหนือดินแดนทางใต้ จากตำบลบางตะพานลงไป จดสุดแหลมมลายู ซึ่งถ้าพิจารณา ในเชิงปฏิบัติ ไทยได้สูญเสียดินแดนทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 ฉะนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม 2451 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศของไทย และนายราฟ แพชยิต ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

   1. รัฐบาลไทย ยอมยกสิทธิทางการปกครอง และการบังคับบัญชาเหนือดินแดนรับมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ
   2. การโอนดินแดนบริเวณนี้ จะจัดให้สำเร็จภายใน 30 วัน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันแล้ว
   3. จัดตั้งคณะกรรมการ ทั้งฝ่ายอังกฤษและไทยภายในระยะ 6 เดือน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบัน เพื่อทำการปักปันเขตแดนกัน นอกจากนี้ คนในบังคับไทย ที่เคยอยู่อาศัยในดินแดนดังกล่าวแล้ว ถ้าต้องการเป็นคนไทยต่อไป ต้องย้ายกลับไปอยู่ในเขตไทยภายในเวลา 6 เดือน และอังกฤษยอมรับว่า บุคคลเหล่านั้น ยังมีสิทธิเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ในดินแดนเหล่านั้นอยู่ หนังสืออนุญาตต่างๆ ที่ทางรัฐบาลไทยออกให้ไว้ก่อนวันเซ็นสัญญา อังกฤษก็ยังคงยอมรับิทธิอันนั้นต่อไป
   4. รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าหนี้สินที่รัฐต่างๆ นั้น มีอยู่ต่อรัฐบาลไทย รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจะชดใช้ให้แทน
   5. อำนาจศาลต่างประเทศฝ่ายไทย ตามข้อ 8 ของหนังสือสัญญาปี ค.ศ.1883 จะยังคงใช้อยู่กับคนในบังคับอังกฤษ ที่เป็นชาวเอเชีย และจดทะเบียน ก่อนวันลงนามในสัญญา คือ คนเหล่านี้จะย้ายขึ้นศาลไทย มีตุลาการแล้วแต่ไทยจะแต่งตั้ง แต่ในเวลาพิจารณาคดี กงสุลอังกฤษต้องไปนั่งฟังอยู่ด้วย และในกรณี ที่คนในบังคับอังกฤษ เป็นจำเลย กงสุลอาจพิจารณา มีสิทธิถอนคดีได้ ส่วนคนในบังคับอื่นที่จดทะเบียน หลังวันลงนามในสัญญา จะอยู่ในอำนาจศาลไทย คนในบังคับเหล่านี้ จะเปลี่ยนไปใช้ศาลไทยทั้งหมด อย่างเต็มที่ เมื่อไทยมีประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา กฎหมายลักษณะแพ่งและการพาณิชย์ กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาคดี และกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญจัดตั้งศาล
   6. คนในบังคับอังกฤษ จะได้กรรมสิทธิ์ เหมือนคนพื้นเมือง เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ต้องเสียภาษีอากรต่างๆ เหมือนคนไทย เว้นแต่ไม่ต้องการเป็นทหาร นอกจากนั้น ไทยยังทำสัญญาปักปันเขตแดน และสัญญาเรื่องอำนาจทางการศาล แยกเป็นพิเศษด้วย

             ในสัญญาฉบับนี้ มีภาคผนวก ว่าด้วยการเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 และว่าด้วยการสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยที่รัฐบาลอังกฤษให้เงินกู้ ในการก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขว่า กรมรถไฟใต้ ในความควบคุมของชาวอังกฤษ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
             หลังการลงนาม แพชยิต เขียนไปรายงานเซอร์ เอ็ดเวิด เกรย์ (Sir Edward Grey) รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายรัฐสภาที่ลอนดอนว่า
              "ดินแดนที่เราได้ครั้งนี้ มีอาณาเขตกว้างขวาง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและประชากร เป็นดินแดนที่มีคุณค่า มากกว่ารัฐเขมร ที่ไทยเพิ่งยกให้แก่ฝรั่งเศส ในเร็วๆ นี้" และอีกตอนหนึ่ง
            "บัดนี้ อาณาเขตของอังกฤษ ติดต่อกับสตูลทางตะวันตก อำเภอสายบุรีทางตะวันออก และเรากำลังสร้างทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือรัฐมลายู แน่นอนเหลือเกินว่า หัวเมืองชายแดนไทย ซึ่งประกอบด้วยปัตตานี และระแงะ จะค่อยๆ ตกอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ และอังกฤษ จะเข้าไปมีผลประโยชน์ ทางการค้าได้อย่างง่ายดาย"
                การยกดินแดนมลายู ให้แก่อังกฤษนี้ ทางไทยไม่ได้แจ้งให้สุลต่าน เจ้าของรัฐเหล่านั้นทราบเลย ทำให้สุลต่านโกรธเคืองมาก ปรากฏว่า สุลต่านไทรบุรี เคยปรารภกับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำรัฐไทรบุรีว่า "ไทยมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกลูกหนี้ให้ใคร" และในตอนหนึ่ง ได้ปรารภว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลุกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อ ซึ่งมี่พันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้" อันที่จริง ระหว่างที่ไทย และอังกฤษ กำลังเจรจาปรึกษาเงื่อนไข สนธิสัญญาอยู่นั้น รัฐไทรบุรีได้ทราบข่าวมา แต่ไม่ชัดเจน จึงได้ส่งจดหมาย มาถามข้อเท็จจริง จากรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง แต่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงนาพระทัยว่าจะทรงตอบเช่นไร
            สุลต่านกลันตัน และสุลต่านตรังกานู ต่างมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน คือคัดค้านการกระทำของไทย สุลต่านกลันตันส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาที่กรุงเทพฯ และสุลต่านตรังกานู รีบยืนยันความจงรักภักดีของตนต่อเมืองไทย ด้วยการส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏว่าไทยชี้แจงว่าอย่างไรเช่นกัน
             นอกเหนือจากปฏิกิริยาดังกล่าวของสุลต่าลแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สนธิสัญญา พ.ศ.2451 ได้เสริมสร้างให้สัมพันธภาพ ระหว่างไทยกับอังกฤษ กระชับแน่นแฟ้นขึ้น ประเทศไทยรอดพ้นจากอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้า เป็นโอกาสให้คงอยู่รอดและไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร มาจนบัดนี้

เครดิตเนื้อหา : http://www.baanjomyut.com/ และ http://th.wikipedia.org/wikภาคใต้_(ประเทศไทย)

นราธิวาส

ประวัติศาสตร์จังหวัดนราธิวาส

ประวัติเมืองนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ดังนั้นการที่จะทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมือง

นราธิวาส จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ ซึ่งเป็นบริเวณหัวเมือง เป็นลำดับติดต่อกันไป

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้ เพื่อปราบปรามข้าศึกที่ยกเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขตทางใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้วจึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองสงขลา แล้วได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนให้มาอ่อนน้อมเหมือนดังเดิม

พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงได้รับสั่งให้ยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒

เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ก็โปรดเกล้าพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไป และตั้งให้เป็นเมืองตรี ขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขตลอดมา

ครั้นต่อมาเมื่อพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้นายพ่าย น้องชายของพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ขึ้นว่าราชการเป็นพระยาปัตตานีและแต่งตั้งให้นายยิ้มซ้าย บุตร

พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เป็นหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งที่บ้านยามู

ในระหว่างนั้นพวกซาเห็ดรัตนาวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาปัตตานี (พ่าย) และบ้านหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำบลบ้านกะลาพอ เขตเมืองสายบุรี

นอกจากนั้นเมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวาง และมีโจรผู้ร้ายปล้นบ้านเรือนราษฎร

ชุกชุมยิ่งขึ้น จนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานี (พ่าย) จะปราบให้สงบราบคาบลงได้ก็แจ้งข้อราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) ออกมาปราบปรามและจัดวางนโยบายแบ่งแยก เมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ แล้วทูลเกล้าถวายรายชื่อเมืองที่แยกออกไปดังนี้ คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม กับพระยาสงขลา (เถี้อนจ๋อง) เป็นผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานแก่เจ้าเมืองทั้ง ๗ หัวเมือง ตามรายชื่อที่จัดไว้ ดังนี้

๑. ตั้งให้ตวนสุหลง เป็น พระยาปัตตานี

๒. ตั้งให้ตวนหนิ เป็น พระยาหนองจิก

๓. ตั้งให้ตวนยะลอ เป็น พระยายะลา

๔. ตั้งให้ตวนหม่าโล่ เป็น พระยารามัน

๕. ตั้งให้หนิเดะ เป็น พระยาระแงะ

๖. ตั้งให้หนิดะ เป็น พระยาสายบุรี

๗. ตั้งให้นายพ่าย เป็น พระยายะหริ่ง

ระเบียบแบบแผนและวิธีปฏิบัติราชการในสมัยนั้น สำหนับเมืองยะหริ่ง เมืองยะลา และเมืองหนองจิก ให้ใช้ตามแบบเมืองสงขลาทั้งสิ้น ส่วนเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ และเมือง รามัน ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส็ง) แต่งตั้งกรรมการออกไประวังตรวจตราและแนะนำข้อราชการอยู่เป็นประจำ บ้านเมืองจึงสงบเรียบร้อยตลอดมา

เมื่อแบ่งแยกหัวเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ในครั้งนั้นพระยาระแงะ (หนิเดะ) ตั้ง

บ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านระแงะ ริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตัน ซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปยังโต๊ะโมะ เหมืองทองคำ ส่วนพระยาสายบุรี (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนว่าราชการอยู่ที่ตำบลบ้านยี่งอ (อำเภอยี่งอปัจจุบัน) บ้านเมืองเป็นปกติสุขเรียบร้อยอยู่หลายปี

ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี (ตวนสุหลง)

พระยาหนองจิก (ตวนกะจิ) พระยายะลา (ตวนบางกอก) พระยาระแงะ (หนิเดะ) เจ้าเมืองทั้ง ๔ ได้ สมคบร่วมคิดกันเป็นกบฏขึ้นในแผ่นดิน โดยรวบรวมกำลังพลออกตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเลยออกไปตีเมืองเทพฯ และเมืองจะนะ พระยาสงขลา (เถื้ยนเส้ง) ทราบข่าว ก็มีใบบอกเข้าไปยังกรุงเทพฯ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพบก ออกมาสมทบช่วยกำลังเมืองสงขลาออกทำการปราบปรามตั้งแต่เมืองจะนะ เมืองเทพฯ ตลอดถึงเมืองระแงะ ตัวพระยาระแงะ (หนิเดะ) ซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกร่วมคิดกันเป็นกบฏกับพระยาปัตตานีนั้นหนีรอดตามจับไม่ได้

พระยาเพชรบุรีและพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พิจารณาเห็นว่าในระหว่างที่ทำการรบอยู่

นั้น หนิบอสู ชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่งแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่ง ได้เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการสู้รบด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดี อันนี้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้รักษาราชการเมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการ เมืองระแงะจากบ้านระแงะริมพรมแดนติดต่อกับเขตเมืองกลันตันมาตั้งที่ว่าราชการเสียใหม่ ณ ตำบลตันหยงมัส (อำเภอระแงะปัจจุบัน)

ต่อมาเมื่อพระยาระแงะ (หนิบอสู) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตวนโหนะ บุตรพระยาระแงะ (หนิบอสู) ว่าราชการเมืองระแงะแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคีรีรัตนพิศาล ตั้งบ้านเรือนว่าราชการเมืองอยู่ที่บ้านพระยาระแงะ (หนิบอสู) บิดา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึงกำหนดเวลาที่บริเวณ ๗ หัวเมืองจะต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเจ้าเมืองทั้ง ๗ ได้เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีด้วยความพร้อมเพรียงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรปูนบำเหน็จความดีความชอบให้ และได้ใช้สืบต่อกันมาจนกระทั่งยุบเลือกการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ดังนี้

๑. เจ้าเมืองปัตตานี “พระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา รัตนาเขตประเทศราช”

๒. เจ้าเมืองหนองจิก “พระยาเพชรภิบาลนฤเบศร์” วาปีเขตร์มุจลินทร์นฤบดินทร์สวา- มิภักดิ์

๓. เจ้าเมืองยะลา “พระยาณรงค์ฤทธิ์ ศรีประเทศวิเศษวังษา”

๔. เจ้าเมืองสายบุรี “พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหารายา” มัตตาอับดุล วิบูลย์ขอบเขตร์ ประเทศมลายู”

๕. เจ้าเมืองรามัน “พระยารัตนภักดี ศรีราชบดินทร์ สุรินทรวิวังษา”

๖. เจ้าเมืองยะหริ่ง “พระยาพิพิธเสนามาตรดาธิบดี ศรีสุรสงคราม”

๗. เจ้าเมืองระแงะ “พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศ วิเศษวังษา”

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่าเสียเพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง ๗ ยังก้าวก่ายกันอยู่หลายอย่าง หลายประการ จึงได้วางระเบียบแบบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตามสมควรแก่การสมัย โดยให้หัวเมืองทั้ง ๗ คงเป็นเมืองอยู่ตามเดิม และให้พระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ มีกองบัญชาการเมืองให้พระยาเมืองเป็นหัวหน้าปลัดเมือง ยกกระบัดเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง รวม ๔ ตำแหน่ง รองตามลำดับ นอกนั้นให้มีกรมการชั้นรองเสมียนพนักงานตามสมควร เพื่อให้ราชการบ้านเมืองเป็นไปโดยสะดวกดีและอาณาประชาราษฎร์มีความอยู่เย็นเป็นสุข โดยมิให้กระทบกระเทือนต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งที่งามทั้งหลายในหัวเมืองเหล่านั้นแต่ประการใด

สำหรับการตรวจตราแนะนำข้อราชการเมืองทั้งปวง ให้เป็นหน้าที่ของข้าหลวงใหญ่ ประจำบริเวณ ๗ หัวเมือง คนหนึ่งมีหน้าที่ออกแนะนำข้อราชการเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของท้องตรากรุงเทพฯ และสอดคล้องกับคำสั่งของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชอีกด้วย

พระยาเมืองที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระ-

ราชทานผลประโยชน์ให้พอเลี้ยงชีพและรักษาบรรดาศักดิ์ตามสมควรแก่ตำแหน่ง และพระราชทานผลประโยชน์ที่เก็บได้เพื่อหักค่าใช้จ่ายไว้เป็นเงินสำหรับบำรุงบ้านเมืองเป็นปีๆ ไป แล้วอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าต้องออกจากราชการในหน้าที่ด้วยเหตุผลทุพพลภาพ ด้วยเหตุประการหนึ่งประการใดก็ดี จะได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงบำนาญอีกต่อไป

เรื่องการศาล จัดให้มีศาลเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลบริเวณ ศาลเมือง ศาลแขวง มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้นพิจารณาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย เว้นแต่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งอิสลามิกชนเป็นโจทก์และจำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลามแทนบทบัญญัติกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดกยังคงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับ

การใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังกล่าวตามข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ เรียกตุลาการตำแหน่งนี้ว่า “โต๊ะกาลี” ต่อมาจึงได้มีข้อกำหนดไว้ในศาลตรากระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๖๐ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “ดาโต๊ะยุติ-ธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่ง “เสนายุติธรรม” ในมณฑลพายับ ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือของอิสลามิกชนเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม

ต่อมาได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ ให้จัดตั้งมณฑลปัตตานีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มีสาระสำคัญว่า แต่ก่อนมาจนถึงเวลานี้บริเวณ ๗ หัวเมือง มีข้าหลวงใหญ่

ปกครองขึ้นอยู่กับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงพระตำหนิเห็นว่าทุกวันนี้ การค้าขายในบริเวณ ๗ หัวเมือง เจริญขึ้นมากและการไปมาถึงกรุงเทพฯ ก็สะดวกกว่าแต่ก่อน ประกอบกับบริเวณ ๗ หัวเมืองมีท้องที่กว้างขวางและมีจำนวนผู้คนมากขึ้น สมควรจะแยกออกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก ให้สะดวกแก่ราชการ และจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ จึงแยกบริเวณ ๗ หัวเมืองออกมาจากมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่า “มณฑลปัตตานี ” ให้พระยาศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปัตตานี

ในมณฑลปัตตานีมีเมืองที่เข้ามารวม ๔ เมือง คือ เมืองปัตตานี (รวมเมืองหนองจิก ยะริ่ง และเมืองปัตตานี) เมืองยะลา (รวมเมืองรามันและเมืองยะลา) เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะจากตำบลบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอ (บางมะนาวปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครอง คือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโมะ

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองบางนราทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนราและทรงดำริเห็นว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้านและควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ให้ เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด ฉะนั้น เมืองนราธิวาส จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดนราธิวาส ดังเช่นปัจจุบันนี้

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าการที่แบ่งเขตเป็นมณฑลและจังหวัดไว้แต่เดิมนั้น เวลานี้การคมนาคมสะดวกขึ้นมาพอที่จะรวมการปกครอง บังคับบัญชาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะยุบมณฑลและจังหวัดเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกมณฑล ๔ มณฑล จังหวัด ๙ จังหวัด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ในการประกาศยุบเลิกมณฑลครั้งนี้ มีมณฑลปัตตานีเป็นมณฑลหนึ่งด้วย และให้รวมจังหวัดต่างๆ ของมณฑลปัตตานีเข้าไว้ในปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช มีศาลารัฐมณฑลตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา

ส่วนจังหวัดที่ประกาศยุบเลิกมี สายบุรีจังหวัดหนึ่งด้วย โดยให้รวมท้องที่เป็นอำเภอเข้าไว้ในปกครองของจังหวัดปัตตานี เว้นท้องที่อำเภอบาเจาะ ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดนราธิวาส

ครั้นต่อมา ท้องที่อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเจริญยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอโต๊ะโมะเป็นอำเภอแว้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอยะบะ เป็นอำเภอรือเสาะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศยกฐานะตำบลสุไหงโก – ลก ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ และประกาศยกฐานะเป็นอำเภอ สุไหงโก-ลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอศรีสาคร โดยรวมเอาตำบลจากอำเภอรือเสาะ ๒ ตำบล คือ ตำบลสากอ และตำบลตะมะยูง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ และยกฐานะเป็นอำเภอศรีสาคร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอสุคีริน โดยแยกตำบลมาโมงจากอำเภอแว้ง แล้วตั้งตำบลมาโมง ตำบลสุคีริน และตำบลเกียร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอจะแนะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕

clip_image001

ที่มา : สำนักงานจังหวัดนราธิวาส

ยะลา

จังหวัดยะลา

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา-สมัยธนบุรี

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ แต่เดิมจะเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งในเมืองปัตตานียังไม่ได้แยกออกมาเป็นเมือง ดังนั้นจึงต้องกล่าวถึงเรื่องราวเบื้องต้นที่เกี่ยวกับเมืองปัตตานี

เมืองปัตตานีมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตลอดจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น โดย นายโทเม ปิเรส (TOME PIRES) ชาวโปรตุเกสผู้เข้ามาอยู่ในมะละกาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้บันทึกว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๓๑) พระองค์ทรงได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นพระสนม ในฐานะเมืองประเทศราช ปัตตานีมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายทุก ๓ ปี ซึ่งในข้อนี้ ลาลูแบร์ (LA LOUBERE) อัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งมากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ได้ยืนยันว่าปัตตานีต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น เข้ามาถวายพระมหากษัตริย์ไทยทุกสามปี ปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของไทยเรื่อยมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ปัตตานีจึงตั้งตนเป็นอิสระ

ในสมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ปัตตานีได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไประยะหนึ่ง จนถึงปลายสมัยธนบุรีซึ่งเกิดความวุ่นวายภายใน ปัตตานีจึงเป็นอิสระอีก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (แต่เดิมเมืองปัตตานีอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๓๓๔

เมืองยะลาเมื่อแยกออกจากเมืองปัตตานีแล้วมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับเมืองหนองจิก

ทิศใต้ ตั้งแต่เขาปะวาหะมะ ไปทางทิศตะวันออก ถึงเขาปะฆะหลอ สะเตาะเหนือ บ้านจินแหร จนถึงคลองท่าสาป จดบ้านบันนังสตา

ทิศตะวันออก ติดต่อกับเมืองยะหริ่ง ตั้งแต่หมู่บ้านโหละเปาะยาหมิง มีสายน้ำยาวไปจดคลองท่าสาป

ทิศตะวันตก ติดต่อเมืองไทรบุรี มีคลองบ้านบาโงย แขวงเมืองเทพา เป็นเขตขึ้นไปจนถึงบ้านยินงต่อไปจนถึงบ้านเหมาะเหลาะ

ส่วนเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองยะลานั้น ปรากฏหลักฐานว่าก่อน พ.ศ. ๒๓๖๐ มีต่วนยะลา เป็นพระยายะลา โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ตั้งตัวเมืองยะลาครั้งแรก ต่อมาพระยายะลา (ต่วนยะลา) ถึงแก่กรรม พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งว่าราชการเมืองสงขลา ให้ต่วนบางกอก ซึ่งเป็นบุตรพระยายะลา รักษาราชการเมืองยะลา แล้วนำความขึ้นไปกราบบังคมทูลให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงทราบ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ของพระยาสงขลา และพระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลาเชิญออกไปตั้งให้ต่วนบางกอกเป็นพระยายะลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยยังคงว่าราชการอยู่บ้านเจ้าเมืองคนเก่า ไม่ได้ย้ายเมืองไป ที่อื่น

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยายะลา (ต่วนบางกอก) ร่วมกับพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง) พี่ พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ) น้อง และพระยาระแงะ (หนิเดะ) คิดกันเป็นกบฎ โดยตีบ้านพระยายะหริ่ง (พ่าย) แล้วเข้าตีเมืองจะนะ เมืองเทพา พระยาสงขลามีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพออกไปสมทบช่วยเมืองสงขลา ครั้งกองทัพพระยาเพชรบุรีออกไปถึงเมืองสงขลาก็รวบรวมกำลังสมทบกับกองทัพพระยาสงขลายกออกไปตีตั้งแต่เมือง จะนะ เมืองเทพา ตลอดจนถึงเมืองระแงะ จับพระยาปัตตานี พระยายะลา พระยาหนองจิก ได้ที่ตำบลบ้านโต๊ะเดะ ในเขตแขวงเมืองระแงะ ส่วนพระยาระแงะหนีไปได้ ในระหว่างนั้นพระยาสงขลาได้ให้หลวงสวัสดิ์ภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่งไปรักษาราชการเมืองยะลา หลวงสวัสดิ์ภักดีก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลวังตระ แขวงเมืองยะลา

เมื่อหลวงสวัสดิ์ภักดี ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งแล้ว พระยาสงขลาก็ได้นำตัวนายเมือง ซึ่งเป็นบุตรพระยายะหริ่ง (พ่าย) เข้ากรุงเทพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้นายเมืองเป็นพระยายะลา โดยได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า พระยาณรงค์ฤทธี ศรีประเทศวิเศษวังษา (เมือง) ซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองยะลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๐ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาป ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ต่วนบาตูปุเต้ เป็นพระยายะลา

ครั้งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ต่วนกะจิ บุตรพระยายะลา (ต่วนบาตูปุเต้) เป็นเจ้าเมืองยะลา ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีใบบอกจากเจ้าเมืองยะลาเพื่อแจ้งรายการเก็บภาษีขาเข้ามายังกรุงเทพฯ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๙-๒๔๓๒ โดยพระยายะลาได้จัดให้เถ้าแก่แฮและหันเฉียง เป็นผู้เก็บเงินภาษีขาเข้าที่บ้านท่าสาปในอัตราร้อยชักสาม ซึ่งปรากฏว่า มีลูกค้าทั้งไทย จีน บรรทุกสินค้ามาขายที่ท่าสาปอย่างคับคั่ง สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายและเก็บภาษี ได้แก่ ไม้ขีดไฟ ผ้าขาว ผ้าลาย ผ้าดำ ธูปจีน เกลือ ด้ายสีต่าง ๆ (สีดำ ขาว เหลือง) น้ำมันมะพร้าว ยาแดง กุ้งแห้ง น้ำตาล กรวด น้ำตาลโตนด กะทะเหล็ก ปลาเค็ม ข้าว จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านท่าสาปเป็นที่ตั้งของเมืองยะลา ซึ่งมีความเจริญและเป็นย่านการค้าของเมืองยะลาในสมัย รัชกาลที่ ๕

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณ ๗ หัวเมือง ก็ได้ประกาศข้อบังคับสำหรับ ปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ กำหนดให้บริษัท ๗ หัวเมือง (ประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามันห์) มีพระยาเมือง เป็นผู้รักษาราชการบ้านเมือง แต่ละเมืองต่างมีหน่วยบริหารราชการของตนเอง แต่จะมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

ในแต่ละเมืองจะมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่าง ๆ

๑. เมืองปัตตานี แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.ยะรัง

๒. เมืองรามัน แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.เบตง

๓. เมืองหนองจิก แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมืองกับ อ.เมืองเก่า

๔. เมืองสายบุรี แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ยิงอ และ อ.บางนรา

๕. เมืองระแงะ แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.โต๊ะโมะ และ อ.สุไหงปาดี

๖. เมืองยะหริ่ง แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ปะนาเระ และ อ.ระเกาะ

๗. เมืองยะลา แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง, อ.ยะหา และ อ.กะลาพอ

แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้แบ่งเมืองยะลาออกเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.เมืองและ อ. ยะหา

ต่อมาในวันที่ ๒๗ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ประกาศตั้งหัวเมืองทั้ง ๗ เป็นมณฑลปัตตานี โดยยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเหลือ ๔ เมือง คือ

๑) รวมเมืองหนองจิก ยะหริ่ง ปัตตานี ขึ้นเป็นเมืองปัตตานี

๒) รวมเมืองรามัน ยะลา ขึ้นเป็นเมืองยะลา

๓) เมืองสายบุรียังคงเป็นเมืองสายบุรี (ภายหลังยุบเป็นตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี)

๔) เมืองระแงะยังคงเป็นเมืองระแงะ (ภายหลังรวมตั้งเป็นจังหวัดนราธิวาส)

โดยมีพระยาศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานว่าในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระยาศักดิ์เสนีได้ตรวจราชการมณฑลปัตตานี ซึ่งรวมถึงการตรวจราชการเมืองยะลาด้วย และจาก รายงานการตรวจราชการทำให้ทราบถึงสภาพของเมืองยะลาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งในด้านการปกครองเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ทั้งนี้ เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้นการดูแลปกครองบังคับบัญชาทำได้รัดกุมยิ่งขึ้น และเพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดิน และต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร จังหวัดยะลาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้

clip_image001
clip_image002

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ ม.๒.๑๔/๗๓

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา. ยะลา : ยะลาการพิมพ์, ๒๕๒๙.


A TEEUW AND D.K. WYATT. HIKAYAT PATTANI : THE STORY OF PATTANIP. ๕-๖ (อ้างอิงมาจากการปฏิรูปการปกครองมณฑลปัตตานี โดย สมโชติ อ๋องสกุล หน้า ๓๐–๓๑)

หลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่ดำเนินการแบ่งปัตตานีเป็น ๗ หัวเมือง ระบุต่างกัน เช่น พงศาวดารเมืองปัตตานี และตำนานเกี่ยวกับประวัติเมืองปัตตานี ระบุว่าการแบ่งปัตตานีเป็น ๗ เมือง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากการปฏิรูปการปกครองมณฑลปัตตานี โดย สมโชติ อ๋องสกุล หน้า ๔๐

บรรดาศักดิ์นี้ได้ใช้สืบต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งยุบเลิกการปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง และเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ใน พ.ศ. ๒๔๔๙

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ ม.๒.๑๒ ก/๒๕ ใบบอกเขต ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๐๕–๑๐๘

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ ม.๒.๑/๒ รายชื่อมณฑลและเมืองที่แบ่งการปกครอง ร.ศ. ๑๒๖

ปัตตานี

ประวัติศาสตร์จังหวัดปัตตานี

ปัตตานี หากจะอาศัยประวัติศาสตร์ของไทยเราเป็นที่อ้างอิงเพียงด้านเดียวจะเห็นได้ว่าปัตตานีมีเรื่องราวและบทบาทเพียงน้อยนิด เป็นเพียงหัวเมืองปักษ์ใต้ที่เป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่สำหรับเรื่องราวของปัตตานีที่มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุของจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยติดต่อด้านการค้าการเดินเรือต่างถึงเมืองปัตตานีเนิ่นนานกว่าสมัยสุโขทัยมากนัก ปัตตานีคือปัจจุบัน "ลังกาสุกะ" คือ อดีตอันรุ่งเรือง

ที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะ ศาสตราจารย์ ปอล วิตลีย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องแหลมมลายูได้ใช้บันทึกของผู้โดยสารเรือผ่านอาณาจักรนี้ซึ่งมีมากมายหลายเชื้อชาติ แต่ที่มากที่สุดและได้รายละเอียดมากที่สุดได้แก่ชาวจีน เพราะชาวจีนได้บันทึกมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นายปอล วิตลีย์ สรุปลงได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะตั้งอยู่ระหว่างเมืองกลันตันและเมืองสงขลา ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงการประวัติศาสตร์

จดหมายเหตุของจีนชื่อ เหลียง ซู ซึ่งเขียนขึ้นในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เรียกชื่อเมืองลังกา- สุกะว่า “ลัง-ยา” หรือ “ลังยาชิว” และกล่าวว่าอาณาจักรลังกาสุกะได้ตั้งมาก่อนหน้านั้นประมาณ ๔๐๐ ปี ซึ่งหมายความว่าได้ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗ แล้วกล่าวด้วยว่า อาณาจักรนี้มีอาณาเขตจรดทั้งสองฝั่งทะเล คือด้านตะวันออกจรดฝั่งอ่าวไทยบริเวณเมืองปัตตานี ด้านตะวันตกจรดฝั่งอ่าวเบงกอลเหนือเมืองไทรบุรี ในประเด็นหลังนั้น ศาสตราจารย์ฮอลล์เห็นด้วยซ้ำกล่าวเพิ่มเติมว่า ก็เพราะอาณาจักรลังกาสุกะมีอำนาจปกครองคร่อมอยู่ทั้งสองฝั่งทะเลเช่นนี้เอง จึงได้ทำหน้าที่ควบคุมเส้นทางเดินข้ามแหลมมลายูแต่โบราณ

เหตุที่ชื่อเมืองหรืออาณาจักรของ “ลังกาสุกะ” ไปปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศเป็นอันมากนั้น ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเมืองลังกาสุกะต้องเป็นเมืองท่าสำคัญอยู่ใกล้ทะเล มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับดินแดนใกล้เคียงอยู่เสมอ

ถิ่นฐานและการโยกย้าย ตามตำนานพื้นเมืองของปัตตานีเล่าสืบกันมาว่า เมืองปัตตานีโบราณ หรือเมื่อครั้งยังเรียกว่า “ลังกาสุกะ” นั้น ได้มีการโยกย้ายมาแล้ว ๓ ครั้ง

เดิมนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปาโย หรือบาโย ซึ่งทุกวันนี้ได้แก่ บริเวณท้องที่ตำบลหน้าถ้ำ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี ในบริเวณนี้ได้พบซากโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมาก แต่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ เป็นส่วนใหญ่

การเคลื่อนย้ายครั้งที่ ๑ ได้อพยพมาตั้งเมืองที่ “บ้านตะมางัน” ท้องที่ตำบลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ชื่อ “ตะมางัน” ปัจจุบันมีอยู่ที่เมืองยะรังเก่า อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้จดจำตำนานเกิดความไขว้เขวขึ้นก็ได้ อีกทั้งที่อำเภอรือเสาะก็ไม่พบโบราณสถาน หรือหลักฐานใดๆ ที่เก่าถึงสมัยลังกาสุกะ

การเคลื่อนย้ายครั้งที่ 2 ได้อพยพย้ายมาตั้งบ้านเมืองที่ “บ้านประแว” คือเมืองยะรังเก่า ในท้องที่ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมืองเก่าของปัตตานีที่ “บ้านประแว” แห่งนี้ได้รับการเชื่อถือมากที่สุดว่าคือ “เมืองลังกาสุกะ” เนื่องจากที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ได้รับการจดบันทึกในจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ตลอดจนได้พบหลักฐานจำนวนมาก รวมทั้งศาสนสถานทั้งของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และอื่นๆ อายุ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๔๐๐ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหลักฐานที่เน้นถึงความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของอาณาจักรลังกาสุกะ

การเคลื่อนย้ายครั้งที่ ๓ ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ที่บ้าน “กรือเซะ” อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๔ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อเมืองปัตตานี และชื่อเมือง “ลังกาสุกะ” ก็จางหายไปจากหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์

ลักษณะบ้านเมืองและการเป็นอยู่ จากหนังสือ “ความสัมพันธ์ของจีนกับหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้” กล่าวถึงจดหมายเหตุ เหลียง-ซู เล่มที่ ๕๔ ว่ามีข้อความเอ่ยถึงเมืองลังกาสุกะว่า เป็นอาณาจักรที่มีพืชผลและภูมิอากาศคล้ายคลึงกับฟูนัน มีเครื่องเทศมาก ประชาชนทั้งหญิงและชายไว้ผมยาวประบ่า สวมเสื้อผ้าไม่มีแขน กษัตริย์และขุนนางใช้ผ้ายกทองสีแดงคลุมเครื่องแต่งกาย ใส่ตุ้มหูทอง ผู้หญิงมีผ้าคลุมและใส่สร้อยสังวาล กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ มีประตูเมืองหลายชั้น เมื่อกษัตริย์เสด็จออกจากวังจะประทับบนหลังช้าง หลังคากูบเป็นผ้าขาว หน้าขบวนมีพลกลอง และมีทหารถือธงล้อมรอบ ชาวเมืองนี้กล่าวว่าเมืองนี้ได้ตั้งเมืองมากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว เมืองลังกาสุกะในสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ได้ส่งทูตไปเมืองจีน (พ.ศ. ๑๐๕๘) เพื่อเจริญราชไมตรี

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรลังกาสุกะ ความอยู่เย็นเป็นสุข และเศรษฐกิจที่ดี แต่เมื่อรุ่งเรืองถึงขีดสุดแล้ว อาณาจักรลังกาสุกะก็เริ่มทรุดลงในศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕ โดยตกไปเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย จนถึง พ.ศ. ๑๘๓๖ อาณาจักรศรีวิชัยหมดอำนาจ กองทัพของกรุงสุโขทัยซึ่งลงมาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชร่วมกับกำลังกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชรุกเข้าไปในรัฐต่างๆ บนแหลมมลายูตอนใต้ จนยึดได้ตลอดสุดแหลมเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๘ ดังข้อความที่จารึกไว้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงเขตแดนทิศใต้ของอาณาจักรสุโขทัยว่า : -

“… เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ฝั่งสมุทร เป็นที่แล้ว …”

ครั้นเมื่ออำนาจของกรุงสุโขทัยอ่อนกำลังลง เมืองนครศรีธรรมราชก็ตรามาเป็นประเทศราชอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองตานีที่พญาศรีธรรมราช (พระพนมวัง) เป็นผู้สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่านั้น บรรดาหัวเมืองปักษ์ใต้พากันกระด้างกระเดื่อง หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพสำเร็จจึงเสด็จพระราชดำเนินลงไปปราบเมืองนครศรีธรรมราช และได้เมืองนครศรีธรรมราชกลับคืนมาอยู่ภายในราชอาณาจักรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพไปตีเมืองตานีได้จากสุลต่านโมหะหมัดในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และโปรดเกล้าให้ตวนกูลัมมิเด็นเป็นรายาตานี

ปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ตวนกูลัมมิเด็นคบคิดกับแขกเมืองเซียะ (ในเกาะสุมาตรา) ยกทัพไปตีเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงให้พระยากลาโหมเสนาเป็นแม่ทัพนำทัพเรือยกไปตีเมืองตานีและมีชัยชนะ พระยากลาโหมราชเสนาได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ระตูปะกาลันเป็น รายาตานีคนต่อไป

ปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ระตูปะกาลันได้ก่อความไม่สงบขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกกองทัพกรุงออกไปสมทบกับกองทัพเมืองสงขลา พัทลุง จะนะ มอบให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี๋ยนจง) เป็นแม่ทัพนำทัพไปตีเมืองตานีจับระตูปะกาลันได้ และได้นำตัวมาไว้ ณ กรุงเทพมหานคร

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราโชบายให้แยกเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์ แต่งตั้งให้นายขวัญซ้าย (มหาดเล็ก) เป็นผู้ว่าการเมืองปัตตานีคนแรก และมีผู้ว่าการต่อมา ดังนี้

นายพ่าย

ตวนกูสุหลง

นายทองอยู่

หนิยุโซะ

ตวนกูเปาะสา

พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูปุเตะ)

พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูตีมุน)

พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูมอซู หรือตวนสุไลมาน)

พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูอับดุลกาเดร์)

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๓ - ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองทั้ง ๗ อันเป็นการปกครองแบบเก่าคือ ระบบกินเมืองมาเป็นระบบเทศาภิบาล ทรงดำเนินการไปทีละขั้นตอนโดยไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อการปกครองของเจ้าเมืองทั้ง ๗ หัวเมือง ทั้งนี้เนื่องจากว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างเอกภาพให้แก่ประเทศ ทรงให้เลิกการแยกการปกครองตามเชื้อชาติที่ปรากฏในเมืองประเทศราชต่างๆ เพื่อรวมอำนาจการปกครองทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย และให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครองโดยการกระจายระบบการบริหารไปสู่ท้องถิ่นตามแบบเทศาภิบาล

ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นมณฑลแรกในภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่ปกครองหัวเมือง ๑๐ เมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์

ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดให้แยกหัวเมืองทั้ง ๗ ออกจากมณฑลนครศรีธรรมราชมาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะเมืองเป็นอำเภอและจังหวัด

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ยุบเลิกมณฑลปัตตานี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ รัฐบาลจำต้องตัดทอนรายจ่ายให้น้อยลงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไว้

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ให้จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ก่อนสมัยเปลี่ยนการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย ดังนั้นเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบ ราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย สาเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

๑. การคมนาคมสื่อสารมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

๒. เพื่อความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

๓. เนื่องด้วยเห็นว่า การดำเนินงานของหน่วยงานมณฑลซ้ำซ้อนกับหน่วยงานจังหวัดอันก่อให้เกิดความล่าช้าไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบเลิกมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกนัยหนึ่ง อันมีผลให้ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีการเปลี่ยนเปลงไปจากเดิม ดังนี้

๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

๒. อำนาจในการบริหารจังหวัดแต่เดิมนั้นตกอยู่กับคณะบุคคลคือ คณะกรรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนมาอยู่กับบุคคลเพียงคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓. คณะกรรมการจังหวัดแต่เดิมมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๐๕ โดยจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคเป็น

๑. จังหวัด

๒. อำเภอ

จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่า ราชการจังหวัดในการบริหารแผ่นดินในจังหวัดนั้นๆ


จดหมายเหตุของจีน “เหลียง ซู” เล่มที่ ๔๕


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดปัตตานี.กรุงเทพฯ.บางกอกสาส์น,๒๕๒๘

สงขลา

ประวัติศาสตร์จังหวัดสงขลา

สงขลา มาจากคำว่า สิงขร แปลว่า ภูเขา ตามสภาพที่ตั้งเมืองซึ่งปรากฏ ป้อมกำแพง และคูเมือง บนภูเขา ค่ายม่วง และทางตอนล่างบริเวณบ้านบนเมือง ตำบลหัวเขา ที่ได้ชื่อว่าเมืองสงขลานั้นมาจากคำว่า สิงขร+นคริน เดิมเป็นภาษาบาลี (มคธ) เมื่อเรียกชื่ออย่างไทยแล้ว เมืองสิงขร (สิงขะระ) เรียกควบเป็นสงขลา ชาวปอร์ตุเกสที่มาค้าขายสมัยอยุธยา เรียกว่า สิง-กอ-ลา (SINGOLA)

เมืองสงขลา ปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ขึ้นเสวยราชย์ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน ๑๖ เมือง ที่ตั้งตัวเมืองในสมัยนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหัวเขา อำเภอเมืองสงขลา (บริเวณเขาค่ายม่วง)

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงค์ กับพวกทำการแย่งราชสมบัติ ปลดพระ

อาทิตวงศ์ จากราชบัลลังก์ แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง เป็นเหตุให้หัวเมืองต่าง ๆ แข็งเมือง เมืองสงขลาก็แข็งเมืองด้วย กรุงศรีอยุธยายกทัพมาปราบหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนถึง พ.ศ. ๒๒๒๓ สมเด็จพระนารายณ์ ส่งกองทัพมาปราบเมืองสงขลาได้ และยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตลอดมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจึงเกิดก๊กต่าง ๆ ขึ้นสงขลารวมอยู่ในก๊กเจ้านคร เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ เจ้านครและเจ้าเมืองสงขลา หนีไปยังเมืองปัตตานี พระเจ้าตากสินเสด็จเมืองสงขลา ประทับอยู่ ๑ เดือนแล้ว ทรงแต่งตั้งให้ชาวเมืองสงขลาคนหนึ่งชื่อโยม เป็นพระสงขลา ต่อมามีพระราชดำริ พระสงขลา(โยม) หย่อนสมรรถภาพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) นายอากร รังนกเกาะสี่ เกาะห้า เป็นพระสงขลา เจ้าเมืองสงขลา (นายเหยี่ยง แซ่เฮา เป็นต้นสกุล ณ สงขลา) ส่วนพระสงขลา (โยม) ให้เข้ารับราชการในกรุงธนบุรี

ครั้น พ.ศ. ๒๓๗๔ ตนกูเดน ซึ่งเป็นกบฎต่อไทยและหนีไปเกาะหมาก (ปีนัง) กับเจ้าพระยาไทรปะแงรัน ผู้เป็นบิดาได้คบคิดกับพวกเมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี ยะหริ่ง ยะลา ให้เป็นกบฎยกทัพมาตีเมืองสงขลา แต่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) ยกทัพมาปราบพวกกบฎไม่คิดต่อสู้ ทัพตามลงไปจนถึงเมืองเประ การปราบจึงสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสงขลามาตั้งฝั่งตะวันออก คือ ตั้งเมืองในเขตเทศบาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗

ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ โปรดเกล้าฯ ให้จัดแจงฝังหลักเมืองสงขลา พระราชทานเทียนชัย

หลักชัยพฤกษ์ กับเครื่องไทยทาน ออกมาให้พระยาสงขลาฝังหลักเมือง พระยาสงขลาจัดทำโรงพิธีกลาง และโรงพิธีสี่มุมเมืองกับโรงพิธีพราหมณ์ ในเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก ๑๒๐๔ เวลาเช้าโมง ๒ บาท (วันศุกร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ เวลา ๐๗.๑๐ นาฬิกา ) ปัจจุบันศาลเจ้าหลักเมืองอยู่ที่ถนนนางงาม

ใน พ.ศ. ๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองสงขลา ถึงสงขลาเมื่อเดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเรือพระที่นั่งกำปั่นกลไฟมณีเมขลา มาจอดที่เกาะหนู โปรดให้พระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองเข้าเฝ้าและพระองค์ประทับที่พระราชวังแหลมทราย ปรึกษาข้อราชการและประพาสเมืองสงขลา ๙ ทิวา กับ ๘ ราตรี ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ

ใน .ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดียเมื่อเสด็จกลับผ่านทางไทรบุรี เสด็จพระราชดำเนินโดยสกลมาร์ค ตามเส้นทางถนนตัดใหม่ แล้วเสด็จประทับเรือพระที่นั่งสู่กรุงเทพมหานครฯ

ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมืองสงขลาว่างผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๖ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสเมืองสงขลาโปรดเกล้าให้หลวงวิเศษภักดี (ชม) เป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลาและโปรดเกล้าให้พระยาสุนทรา นุรักษ์เป็นพระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชวาทเพื่อปรับปรุงการปกครองได้ปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมืองสงขลา จึงเป็นที่ตั้งของมณฑลนครศรีธรรมราช

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ประกาศใช้เมืองสงขลาจึงเป็นที่ตั้งภาค ฯ ภายหลังเมื่อยุบเลิกการปกครองแบบภาคแล้วก็ตาม จังหวัดสงขลาก็เป็นที่ตั้งของเขตและภาคอยู่ ปัจจุบันมีส่วนราชการส่วนกลาง ๑๔๐ ส่วน ส่วนภูมิภาค ๓๒ ส่วน ส่วนท้องถิ่น ๑๗ ส่วน และรัฐวิสาหกิจ ๒๘ ส่วน

clip_image001

ที่มา : พิธีเปิดอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองสงขลา.เทมการพิมพ์, ๒๕๒๘

สตูล

ประวัติศาสตร์จังหวัดสตูล

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าในสมัยดังกล่าวยังไม่มีเมืองสตูล คงมีแต่หมู่บ้านเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบใกล้ฝั่งทะเล

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลเป็นเพียงตำบลซึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองไทรบุรีชื่อตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ ถึงแก่กรรมน้องชายชื่อตนกูดีบาอุดดีน ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง (รายามุดา) ได้เป็นเจ้าเมืองแทน ต่อมาไม่นานนักก็ถึงแก่กรรมและไม่ปรากฏว่าตวนกูดี-มาอุดดีนมีบุตรหรือไม่ ต่อมาปรากฏว่าบุตรชายของตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ จำนวน ๑๐ คน ซึ่งต่างมารดากันได้แย่งชิงกันเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ซึ่งเป็นผู้กำกับหัวเมืองฝ่ายตะวันตก จึงได้พิจารณานำตัวตวนกูปะแงรัน และตวนกูปัศนู ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไทรบุรี (ตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ กรุงเทพฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตวนกูปะแงรันซึ่งเป็นบุตรคนโตให้เป็นพระรัตนสงครามรามภักดีศรี ศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชบดินทร์ สุรินทวังษาพระยาไทรบุรี และทรงแต่งตั้งตวนกูปัศนู เป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ มีข้าศึกยกตีเมืองถลางในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ พระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) ได้ส่งกองทัพจำนวน ๒,๕๐๐ คน ไปช่วยรบกับข้าศึกที่เมืองถลาง และในปี พ.ศ. ๒๓๕๕ พระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) ได้ยกกองทัพไปตีได้เมือง แป-ระ ทำให้เมืองดังกล่าวเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบทั้งสองครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี

ต่อมาไม่นานนัก เจ้าพระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) เกิดแตกร้าวกับพระยาอภัยนุราช (ตวนกูปัศนู) ผู้เป็นรายามุดา ปรากฏข้อความในหนังสือเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราชว่าการแตกร้าวเกิดขึ้นเพราะพระยาอภัยนุราชขอเอาที่กวาลามุดาเป็นบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ยอมให้ที่ดังกล่าวจะให้ที่อื่นแทน พระยาอภัยนุราชไม่ยอมรับ และต่างฝ่ายก็ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงเป็นข้าหลวงออกไปว่ากล่าวไกล่เกลี่ยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ แต่เจ้าพระยาไทรบุรีกับพระยาอภัยนุราชไม่ปรองดองกัน ในที่สุดจึงโปรดให้ย้าย พระอภัยนุราชไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองไทรบุรี และทรงตั้งตวนกูอิบราฮิมเป็นราคามุดาเมืองไทรบุรี เหตุการณ์ที่เกิดแตกร้าวจึงสงบกันไป

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองไทรบุรีในครั้งนี้ไว้ว่า “ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวก คือพวกเจ้าพระยาไทรปะแงรัน พวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราช พวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราช ได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทย แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อวงศ์ของพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น”

ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๓ ได้มีข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่า ข้าศึกเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองไทย และได้คิดชักชวนเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ให้เข้าเป็นพวกยกมาทำศึกอีกทางหนึ่งด้วย จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งออกไปให้สืบสวนและให้กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา ไปตั้งต่อเรือที่เมืองสตูล เพื่อเป็นการคุมเมืองไทรบุรีไว้ด้วย

ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๔ ตนกูม่อม ซึ่งเป็นน้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เข้ามาฟ้องต่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจออกห่างและไป เผื่อแผ่แก่ข้าศึก จึงโปรดเกล้าให้มีตราลงไปหาตัวเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามาเพื่อไต่ถาม เจ้าพระยาไทรบุรีได้ทราบท้องตราแล้วก็เลยตั้งแข็งเมือง ต้นไม้เงินต้นไม้ทองก็ไม่ส่งเข้าไปทูลเกล้าถวายตามกำหนด จึงโปรดให้มีตราลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราชว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจเผื่อแผ่แก่ข้าศึกเป็นแน่เลยจะละไว้ให้เมืองไทรบุรีเป็นไส้ศึกอีกทางหนึ่งไม่ได้ ให้พระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพลงไปตีเมืองไทรบุรีเอาไว้ในอำนาจเสียให้สิทธิ์ขาด

ในเวลานั้น พระยานครศรีธรรมราช ได้ต่อเรือรบเตรียมไว้ที่เมืองตรังและเมืองสตูลแล้ว เมื่อได้รับท้องตราให้ไปตีเมืองไทรบุรี จึงได้เตรียมจัดกองทัพ และทำกิติศัพท์ให้ปรากฏว่าจะยกไปตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรี และได้สั่งให้เจ้าพระยาไทรบุรีเป็นกองลำเลียงส่งเสบียงอาหาร แต่เจ้าพระยาไทรบุรีก็บิดพริ้วไม่ยอมส่งเสบียงอาหารมาให้ พระยานครศรีธรรมราชจึงได้ยกกองทัพบก กองทัพเรือพร้อมด้วยกองทัพเมืองพัทลุง และเมืองสงขลายกทางบกลงไปตีเมืองไทรบุรีพร้อมกัน ได้สู้รบกันเล็กน้อย กองทัพพระยานครศรีธรรมราช ก็ได้เมืองไทรบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ส่วนเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก (เกาะปีนัง) พระยานครศรีธรรมราชจึงให้พระยาภักดีบริรักษ์ (ชื่อ แสง เป็นบุตรของพระยานครศรีธรรมราช) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้นายนุช มหาดเล็ก (เป็นบุตรอีกคนหนึ่งของพระยานครศรีธรรมราช) เป็นปลัดอยู่รักษาราชการที่เมืองไทรบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง พระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอศวรรย์ ขัณฑเสมาตยาชิตสิทธิสงครามรามภักดี พิริยะพาหะ พระยาไทรบุรี และตั้งนายนุชมหาดเล็ก เป็นพระยาเสนานุชิต ตำแหน่งปลัดเมืองไทรบุรี เมืองไทรบุรีตั้งอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ นั้นมา

ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๓ ตนกูเดน ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายา ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดากันกับเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เที่ยวลอบเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าไปเป็นสมัครพรรคพวกได้มากแล้วก็ยกเข้าไปตีเมืองไทรบุรีได้ พระยาอภัยธิเบศร์ เจ้าเมืองไทรบุรีและคนไทยในเมืองไทรบุรีต้องถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชทราบเรื่อง แล้วมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ยกลงไป ๔ กอง คือ พระยาณรงค์ฤทธิโกษา คุมลงไปกองหนึ่ง พระยาราชวังสัน กองหนึ่ง พระยาพิชัยบุรินทรา กองหนึ่ง พระยาเพชรบุรี (ชื่อ ศุข ได้เป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลที่ ๔) อีกกองหนึ่ง กองทัพทั้ง ๔ กองนี้ ยกลงไปถึงเมืองสงขลาแล้วก็ได้ทราบความว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชไปยังเมืองไทรบุรีแล้ว ดังนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ทั้ง ๔ กอง จึงได้ยกไปทางบริเวณ ๗ หัวเมือง แต่กำลังไม่พอที่จะไปรักษาความสงบได้ เนื่องด้วยเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ได้ยกพวกขึ้นมาช่วยพวกบริเวณ ๗ หัวเมืองด้วย จึงได้มีใบบอกขอกำลังเพิ่มเติมจากกรุงเทพฯ อีก ได้โปรดให้เจ้าพระยาคลัง (ชื่อ ดิศ ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาราชประยูรวงค์) ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งในครั้งนั้นดำรงตำแหน่งทั้งที่สมุหพระกลาโหมและกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือตามลงไปอีกทัพหนึ่ง

ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชลงไปยังเมืองไทรบุรี ได้สู้รบกับพวกตนกูเดน และกองทัพไทยได้เข้าล้อมพวกตนกูเดนไว้ ตนกูเดนกับพวกหัวหน้าเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่ก็พากันฆ่าตัวตาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้เมืองไทรบุรีกลับมาเป็นของไทยดังเดิม

ในปีพุทธศักราช ๒๓๘๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าได้เกิดความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเมืองไทรบุรีเนื่องจากตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) และได้หลบหนีไปเป็นสลัดอยู่ในทะเลฝ่ายตะวันตก ได้กลับยกพวกเข้ามาคบคิดกับหวันมาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าสลัดอยู่ที่เกาะยาว แขวงเมืองภูเก็ต เที่ยวชักชวนผู้คนเข้ามาเป็นพวกได้จำนวนมากขึ้นแล้ว จึงได้ยกพวกเข้ามาตีเมืองไทรบุรีอีก ในขณะนั้นพระยาอภัย-ธิเบศร์ (แสง) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีกับพระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีเป็น บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรีอยู่และเห็นว่าจะอยู่รักษาเมืองไว้มิได้ จึงต้องถอยมาตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองพัทลุง แล้วมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ

ในเวลานั้น ข้าราชการผู้ใหญ่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชและพระยาสงขลา เป็นต้น ได้เข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และช่วยงานทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อตนกูมะหะหมัดสหัสและหวันมาลีตีได้เมืองไทรบุรีแล้ว ก็มีใจกำเริบ ด้วยรู้แน่ว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทางห้วเมืองปักษ์ใต้ส่วนมากไม่อยู่จึงได้คบคิดกันยกพวกเข้าตีได้เมืองตรัง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราชได้อีกเมืองหนึ่งครั้นเมื่อได้เมืองตรังแล้ว ก็ยกพวกเข้ามาเพื่อจะตีเมืองสงขลาต่อไปแล้วแต่งคนให้ชักชวนเกลี้ยกล่อมทางบริเวณ ๗ หัวเมือง ให้กำเริบขึ้นอีก เมื่อมีข่าว เข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองทางปักษ์ใต้รีบกลับออกไปรักษาเมืองทันที ถึงกระนั้นก็ยังทรงพระวิตกอยู่ ด้วยคราวนี้พวกสลัดเข้ามาตีได้เมืองตรัง และยกกำลังประชิดเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ด้วย เกรงว่าพวกบริเวณ ๗ หัวเมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ เมืองสายบุรี เมืองรามัญ และเมืองยะลา รวมทั้งเมือง กลันตัน ตรังกานู จะกำเริบขึ้นมาอีก จึงทรงพระราชดำริให้จัดกองทัพใหญ่ยกออกไปจากกรุงเทพฯ เหมือนอย่างที่เคยโปรดให้เจ้าพระยาคลัง ออกไปเมื่อคราวก่อน เป็นแต่เปลี่ยนให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์-รัตนราชโกษา (ชื่อ ทัด เป็นน้องเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และได้เป็นเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) ตำแหน่งจางวางพระคลังสินค้าเป็นแม่ทัพยกไปเมืองสงขลา

ส่วนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเมื่อไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็เกณฑ์ผู้คนจากเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) ซึ่งเป็นพระยาไทรบุรี พระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรี และพระยาวิชิตสรไกร ยกลงไปตีเมืองไทรบุรีคืนจากพวกสลัดที่ยึดเมืองอยู่ เมื่อพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด) ยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลานั้น ได้ทราบว่าพระยาไทรบุรี พระเสนานุชิต และพระวิชิตสรไกร ยกกองทัพเข้าตีเมืองไทรบุรีคืนได้แล้วในปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๑

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จึงได้จัดการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อยกันต่อไป และได้พิจารณาเห็นว่าพระยาไทรบุรีและพระยาเสนานุชิตเป็นคนไทย จะให้อยู่รักษาเมืองไทรบุรีต่อไปก็จะได้รับความยุ่งยาก เนื่องจากบุตรหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) จะยกมารบกวนย่ำยีบ้านเมืองอีก ดังนั้น ในปี พ. ศ. ๒๓๘๒ จึงได้จัดแบ่งแยกแขวง อำเภอเมืองไทรบุรีออกเป็น ๔ เมือง คือ

๑. เมืองกุปังปาซู ตั้งให้ตนกูอาเส็น เป็นเจ้าเมือง

๒. เมืองปลิส ตั้งให้เสสอุเส็น เป็นเจ้าเมือง

๓. เมืองสตูล ตั้งให้ตนกูมัดอาเก็บ เป็นเจ้าเมือง

๔. เมืองไทรบุรี ตั้งให้ตนกูอาหนุ่ม เป็นผู้ว่าราชการเมือง

เมืองทั้ง ๔ เมืองนี้ คงให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไปดังเดิม สำหรับเมืองสตูลซึ่งตนกูมัดอาเก็บ เป็นเจ้าเมืองนั้นปรากฏว่า ตนกูมัดอาเก็บเป็นวงศ์ญาติของเจ้าเมืองไทรบุรีคนเก่า และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กวาลามุดา แขวงเมืองไทรบุรี ตนกูมัดอาเก็บรับตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลอยู่นานถึง ๓๗ ปี ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์มหินทรายานุวัตรศรีสตูล รัฐจางวางและก็ถึงแก่กรรมในปีนั้น

ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา กล่าวถึงชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูลไว้ว่า ชื่อตนกูเดหวาได้เป็นพระยาสตูล ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจว่า ตนกูมัดอาเก็บมีชื่อเรียกกันง่ายๆว่า "ตนกูเดหวา" และที่ได้กล่าวไว้ว่าได้แบ่งเมืองไทรบุรีเป็น ๓ เมืองนั้น ถ้านับดูจำนวนแล้วก็จะเป็น ๔ เมือง รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วย ส่วนรายชื่อผู้ว่าราชการเมืองนั้น พงศาวดารเมืองสงขลากล่าวไว้ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ คือ สลับชื่อผู้ว่าราชการเมืองไทรบุรีเป็นยมตวัน ที่แท้คือ ตนกูอาหนุ่ม และที่ว่าตนกูอาหนุ่มเป็นพระยาปังปะสู นั้นที่จริงคือ ตนกูอาสัน เป็นเจ้าเมืองกูปังปาซู จะขอนำข้อความในพงศาวดารเมืองสงขลายกมากล่าวอ้างไว้ดังนี้ คือ

“ส่วนเมืองไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กลับไปรักษาราชการอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเดหวาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้ปลัดเมืองพัทลุงไปว่าราชการเมืองพัทลุง และยกที่พะโคะ แขวงเมืองพัทลุงให้เปนแขวงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพจัดราชการเรียบร้อยแล้ว จึงมีหนังสือออกไปหาพระยาเพ็ชรบุรีพระสุนทรนุรักษ์ (บุญศรี) ซึ่งรักษาราชการอยู่ที่เมืองสงขลาสองปี และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ นำข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เมืองไทรบุรีนั้นครั้นจะให้คนไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไป คงจะไม่เปนการเรียบร้อย ควรแบ่งเมืองไทรบุรีออกเปนสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี จึงจะเปนปกติเรียบร้อยได้ขอรับพระราชทานให้ยมตวัน ซึ่งเปนพระยาไทรบุรีมาแต่ก่อนเปนพระยาไทรบุรีสืบต่อไป ให้ตนกูอานมเปนพระยาบังปะสู ให้ตนกูเสดอะเส็ม เปนพระยาปลิส ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเปนพระยาพัทลุง ส่วนพระยาพัทลุงบุตรเจ้าพระยานครนั้น ควรพาตัวเข้ามาทำราชการเสียในกรุงเทพฯ แต่เมืองพังงานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ขอรับพระราชทานให้พระยาไทรบุรี บุตรเจ้าพระยานครไปเปนพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราตั้งเจ้าเมืองแล ผู้ว่าราชการเมือง ออกมาตามความเห็นพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพราชการบ้านเมืองก็เปนปกติ ไม่มีขบถสืบต่อมาจนทุกวันนี้”

ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลายังได้กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า

“ ครั้นปีมะโรง ฉศก. ศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ถึงกำหนดงวดส่งต้นไม้ทองเงิน เมืองสตูลหาส่งต้นไม้ทองเงินไม่ พระยาสงขลา (เลี้ยนเว้ง) ต้องทำต้นไม้ทองเงินแทนเมืองสตูล แล้วแต่งให้ตนกูเดหวา ทำต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ให้ตนกูเดหวาเป็นพระยาสตูล พระยาสตูล (เดหวา) กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสตูล ในปีนั้นพระยาสตูลกับพระยาปลิสวิวาทกันด้วยเรื่องเขตแดน จึงโปรดเกล้าฯ มีตราออกมาให้เมืองนครกับเมืองสงขลา พร้อมกันออกไปชำระสะสางให้เป็นที่ตกลงเรียบร้อยแก่กัน แล้วให้ปักหลักแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดวิวาทกันต่อไป ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จึงได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาพอยกเมืองสตูล ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนคร เหตุด้วยเมืองสงขลาบังคับบัญชาเมืองแขก ๗ เมืองเต็มกำลังแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลอยู่กับเมืองนครตั้งแต่นั้นมา”

ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๒ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระยากะบังปะซูถึงแก่กรรม พระยาไทรบุรี เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเมืองกะบังปะซูให้รวมอยู่ในเมืองไทรบุรีตามเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกะบังปาซูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นจึงมีเมืองที่มีผู้ว่าราชการเมือง ๓ เมือง คือเมืองไทรบุรี เมืองปลิส และเมืองสตูล อนึ่ง กล่าวกันว่าพระยาไทรบุรีผู้นี้เป็นผู้เข้าออกในกรุงเทพฯ เนืองๆ เหมือนกับผู้สำเร็จราชการหัวเมืองไทย โดยสารเรือกลไฟมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง เดินทางมาลงเรือ ณ เมืองสงขลาบ้าง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เหมือนขุนนางไทยทุกครั้ง เป็นการคุ้นเคยสนิทต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ต่อมาพระยาสตูลมีหนังสือบอกให้พระปักษาวาสะวารณินทร์ ผู้ช่วยราชการซึ่งเป็นบุตร ผู้ใหญ่คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเข้ามายังเมืองนครศรีธรรมราช มีใบบอกให้กรมการล่ามนำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย โดยพระยาสตูลมีหนังสือบอกมาว่า ทุกวันนี้พระยาสตูลชราตามืดมัวแล้วจะว่าราชการเมืองต่อไปมิได้ขอรับ พระราชทานพระปักษาวาสะวารณินทร์ว่าราชการบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระราชดำริว่า พระยาสตูลรักษาบ้านเมืองมามิได้มีเหตุผลเกี่ยวข้องแก่บ้านเมือง ควรจัดการให้สมควร ความปรารถนาพระยาสตูลจึงจะชอบ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระปักษา-วาสะวารณินทร์ เป็นพระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดี ศรีอินดาราวิยาหยา พระยาสตูล ให้เอาเครื่องยศพระยาสตูลคนเก่าพระราชทานแก่พระยาสตูลคนใหม่ แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มยศพระยาสตูลคนเก่าขึ้นเป็น พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัตร ศรีสกลรัฐ มหาปธานาธิการ ไพศาล-สุนทรจริต สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล พระราชทานเครื่องยศพานทองโปรดเกล้าฯ ให้มอบสัญญาบัตรเครื่องยศพระยาสตูลคนใหม่ออกไปพระราชทาน ณ เมืองสตูล

ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ จีนเมืองภูเก็ตกบฏฆ่าฟันไพร่บ้านพลเมือง เอาไฟเผากุฏิ วิหาร ตึกเรือนโรงกรมการ ราษฎรแตกตื่นเป็นอันมาก เจ้าหมื่นเสมอใจราช ข้าหลวงรักษาราชการเมืองภูเก็ต มีหนังสือบอกข้อราชการของกองทัพเมืองไทรบุรี เมืองปลิส เมืองสตูล มาช่วยระงับจีนขบฏเมืองภูเก็ต เจ้าพระยาไทรบุรี พระยาปลิส พระยาสตูล ให้คนคุมไพร่รีบยกไปเมืองภูเก็ตทันราชการแล้ว เจ้าพระยาไทรบุรี ได้ไปปรึกษาราชการกับข้าหลวงเมืองภูเก็ต เจ้าพระยาไทรบุรี พระยาปลิส พระยาสตูล นายทัพ นายกอง มีความชอบในราชการแผ่นดินในครั้งนั้นพระยาอภัยนุราช พระยาสตูล ได้รับพระราชทานช้างเผือกสยาม ขั้นที่ ๔ ชื่อ ภูษนาภรณ์

ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูอามัด) ถึงแก่อสัญกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระมนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงเมืองตรังรับไปฟังราชการ ณ เมืองไทรบุรี พระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงมีหนังสือบอกให้หลวงโกชาอิศหากถือมา ว่าราชการเมืองไทรบุรีเรียบร้อย พระยาสตูล พระยาปลิส พระอินทรวิไชย พระเกไดสวรินทร์ พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ พระเกษตรไทยสกลบุรินทร์ ตนกูอาเด ลงชื่อประทับตราปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีบุตรชายใหญ่ ๒ คน คนหนึ่งชื่อ ตนกูไซ-นาระชิด อายุได้ ๒๒ ปี คนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด อายุ ๑๖ ปี ตนกูไซนาระชิด เป็นที่ควรจะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป ตนกูฮามิดเป็นน้อง ควรรับราชการรองลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูไซนาระชิด เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราช-มุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี พระราชทานพานทอง ตนกูฮามิด เป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา พระราชทานพานครอบทอง

ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๔ พระยาไทรบุรีไซนาระชิดถึงแก่อสัญกรรม พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ (ตนกูฮามิด) รายามุดา เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสรีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา ผดุงทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขต ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปลิส และเมืองสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลไทรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรีมีข้อความตามกระแสพระราชดำริในการตั้งมณฑลไทรบุรี ต่อไปนี้คือ

"ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบ ทั่วกันว่า

๑. ทรงพระราชดำริเห็นว่า หัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันตกมีอยู่ ๓ เมือง คือเมืองไทรบุรี ๑ เมืองปลิส ๑ เมืองสตูล ๑ และหัวเมืองทั้ง ๓ นี้ ควรจะจัดให้มีแบบแผนบังคับบัญชาการเป็นอย่างเดียวกัน ให้ราชการบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

๒. ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลกรุงเทพมหานครเป็นอันมากมาเนืองนิตย์ และมีสติปัญญาอุตสาหะ จัดการเมืองไทรบุรีเจริญเรียบร้อยยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

๓. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งเจ้าพระยาไทรบุรีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการเมืองปลิส ๑ เมืองสตูล ๑ รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วยเป็น ๓ เมือง

๔. ให้เจ้าพระยาไทรบุรี มีอำนาจที่จะตรวจตราบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล แลมีคำสั่งให้จัดการบ้านเมืองตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกอย่าง เพื่อให้ ราชการบ้านเมืองเหล่านั้นเรียบร้อยและเจริญขึ้นและให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล ศรีตวันกรมการเมืองทั้งสองนั้นฟังบังคับบัญชา เจ้าพระยาไทรบุรีในที่ชอบด้วยราชการทุกประการ

๕. ผู้ว่าราชการเมืองปลิส และเมืองสตูลคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวศรีตวันกรมการไพร่บ้านพลเมืองนั้นๆ แลรับผิดชอบในราชการบ้านเมืองทุกอย่าง แต่ต้องกระทำตามบังคับแลคำสั่งของเจ้าพระยาไทรบุรี ตามบรรดาการที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น

๖. ต้นไม้เงินทองเมืองปลิส เมืองสตูลซึ่งข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเคยบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แต่นี้ไปเมื่อถึงกำหนดให้เจ้าพระยาไทรบุรีบอกนำส่งเข้ามากรุงเทพฯ

๗. ข้อราชการบ้านเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล เคยมีใบบอกต่อข้าหลวงเทศาภิบาลฝ่ายตะวันตก เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการก็ดี หรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี แต่นี้ไปให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูลมีใบบอกไปยังเจ้าพระยาไทรบุรี เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการหรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนเช่นนั้น แต่ในราชการบางอย่างซึ่งเคยเป็นแบบแผนเคยมีท้องตราจากกรุงเทพฯ ตรงไปตามหัวเมืองก็ดี ที่หัวเมืองเคยบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี ก็ให้คงเป็นไปตามแบบแผนเดิมนั้น แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าพระยาไทรบุรีทราบด้วย

แต่การที่ว่ามาในข้อนี้ ไม่เกี่ยวข้องถึงฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายร้องทุกข์หรือเพื่อจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยเฉพาะการเช่นนี้ย่อมเป็นราชประเพณีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไป มิได้เลือกหน้าใครจะถวายก็ได้ไม่ห้ามปราม

๘. ผลประโยชน์ของผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล เคยได้ในตำแหน่งเท่าใดให้คงได้อย่างแต่ก่อน ส่วนผลประโยชน์ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเหล่านั้นได้เคยให้ประจำตำแหน่งศรีตวันกรมการเท่าใด ถ้าศรีตวันกรมการเหล่านั้นยังรับราชการบ้านเมืองตามสมควรแก่หน้าที่ ก็ให้คงได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเดิมและเงินผลประโยชน์ เงินภาษีอากรที่ได้ในเมืองปลิส เมืองสตูล มากน้อยเท่าใด เงินเมืองใดให้จัดจ่ายให้ราชการทำนุบำรุงในเมืองนั้น และให้มีบัญชีทั้งรายรับ และรายจ่ายแยกออกเป็นเมืองๆ อย่าให้ปะปนกัน

๙. ตำแหน่งแลเกียรติยศบรรดาศักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูลและศรีตวันกรมการเมืองทั้งสองเมืองนั้น เคยมีมาประการใดก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น การที่จะเลือกสรรตั้งแต่ศรีตวันกรมการผู้ใหญ่เมืองปลิสและเมืองสตูลนั้น ตำแหน่งใดว่างลงให้เจ้าพระยาไทรบุรี ปรึกษาหารือด้วยผู้ว่าราชการเมืองนั้น เลือกสรรผู้ซึ่งสมควรแล้วมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล เมื่อทรงพระราชดำริเห็นชอบแล้วก็จะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตามธรรมเนียม ส่วนแต่งตั้งกรมการผู้น้อยนั้น ให้ผู้ว่าราช-การเมืองปลิส เมืองสตูล หารือต่อเจ้าพระยาไทรบุรี เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีเห็นชอบด้วยแล้วก็ตั้งได้

๑๐. เจ้าพระยาไทรบุรีต้องมีใบบอกรายงานการที่ได้จัดแลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตแขวงเมืองปลิส และเมืองสตูล เข้ามากราบบังคมทูลเนืองๆ แลบรรดาการที่เจ้าพระยาไทรบุรีจะจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเมืองปลิส เมืองสตูล และการใดก็ให้มีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานพระบรม-ราชานุญาตตามแบบแผนขนบธรรมเนียมในราชการ"

เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) จากหนังสือสัญญานี้ยังผลให้ไทรบุรีและปลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลคงเป็นของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

คำว่า สตูล มาจากภาษามาลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน อันเป็นต้นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่บริเวณเมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า “นครสโตยมำ-บังสการา” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “สตูล” แห่งเมืองพระสมุทรเทวา

จังหวัดสตูล แม้จะอยู่รวมกับไทรบุรีในระยะเริ่มแรกก็ตาม แต่จังหวัดสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีดินแดนรวมอยู่ในประเทศไทยตลอดมา ระยะแรกๆ จังหวัดสตูลแบ่งการปกครองออกเป็น ๒ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอมำบัง อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู ซึ่งอยู่ในการปกครองของอำเภอทุ่งหว้า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล

สำหรับอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือกลไฟจากต่างประเทศ ติดต่อไปมาค้าขายและรับส่งสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของอำเภอทุ่งหว้า คือ พริกไทย เป็นที่รู้จักเรียกตามกันในหมู่ชาวต่างประเทศว่า “อำเภอสุไหงอุเป” ต่อมาเมื่อประมาณปี ๒๔๕๗ การปลูกพริกไทยของอำเภอทุ่งหว้าได้ร่วงโรยลง จึงทำให้ราษฎรในท้องที่หันมาปลูกยางพาราแทน จึงขาด สินค้าออกที่สำคัญของท้องถิ่น ชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายต่างพากันอพยพกลับไปยังต่างประเทศ ราษฎรในท้องที่ก็พากันอพยพไปหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นกันมาก โดยเฉพาะได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งกันที่กิ่งอำเภอละงูกันมากขึ้น ทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทางกลับกัน ทำให้อำเภอทุ่งหว้าซบเซาลง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอละงู และยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้ออกพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอทุ่งหว้าขึ้นเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอทุ่งหว้า เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ท้องที่อำเภอเมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่ โดยทั่วๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเมืองสตูล ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง ให้เรียกว่ากิ่งอำเภอควนกาหลง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๙ กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะกิ่งอำเภอ ควนกาหลง ขึ้นเป็นอำเภอให้ชื่อว่า อำเภอควนกาหลง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าท้องที่กิ่งอำเภอควนกาหลง อำเภอ เมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่กิ่งอำเภอควนกาหลง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง เรียกชื่อว่า กิ่งอำเภอท่าแพ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าท้องที่อำเภอเมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเมืองสตูล ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง เรียกว่า กิ่งอำเภอควนโดน เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

ปัจจุบันนี้ จังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ

๑. อำเภอเมืองสตูล

๒. อำเภอละงู

๓. อำเภอทุ่งหว้า

๔. อำเภอควนกาหลง

๕. อำเภอควนโดน

๖. กิ่งอำเภอท่าแพ (ขึ้นอยู่กับการปกครองของอำเภอเมืองสตูล)


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสตูล.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง,๒๕๓๒.

พัทลุง

ประวัติศาสตร์จังหวัดพัทลุง

ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง

เมืองพัทลุงมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมีชุมชนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาก่อนแล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกเรียกชื่อว่าเมืองสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาถูกกองเรือพวกโจรสลัดรุกราน จึงมีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่บริเวณบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เรียกชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนที่เมืองสทิงพระ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมืองสงขลาเป็นเมืองปากน้ำ แต่เมืองพัทลุงก็มีฐานะเป็นเมืองบริวารของแคว้นนครศรีธรรมราชมาตลอด แม้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่เมืองพัทลุงก็ยังตกเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยระบบกินเมืองระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษ ที่ ๒๕ ราชธานีได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในสมัยที่ตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันท-โรจวงศ์ปกครองเมือง ราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึงทั้งๆ ที่แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองพัทลุงไปนานแล้ว ขณะเดียวกันมหาอำนาจตะวันตกก็คุกคามเข้ามารอบด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้วในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก็ทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายูเสียใหม่ เพื่อ ดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ามณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยระบบเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖ รัฐบาลพยายามลดอำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ตลอดมาในสมัยระบบเทศาภิบาล แต่แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในสมัยระบบประชาธิปไตย เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กลับได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันจังหวัดนี้กลับกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของภาคใต้ เพื่อเข้าใจถึงเรื่องราวดังกล่าวผู้เขียนจะแบ่งประวัติศาสตร์พัทลุงออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุคือ ขวานหินขัดสมัยหินใหม่ หรือชาวบ้าน เรียกว่า ขวานฟ้าที่พบจำนวน ๕๐-๖๐ ชิ้น(๑) ในเขตท้องที่อำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอ ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าท้องที่เหล่านี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว(๒) มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว โดยใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสับตัด

สมัยประวัติศาสตร์

อายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือ สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยระบบกินเมือง สมัยระบบเทศาภิบาล และสมัยระบบประชาธิปไตย

สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง

ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๒๐ เมื่อบริเวณสันทรายขนาดใหญ่ กว้าง ๕–๑๒ กิโลเมตร ยาว ๘๐ กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาหรือบริเวณที่ต่อมาภายหลังชาวพื้นเมืองเรียกว่า แผ่นดินบก ซึ่งเป็นที่ดอน เป็นแผ่นดินเกิดใหม่ชายฝั่งทะเลหลวง ทำให้ผู้คนอพยพจากบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพภูมิ-ประเทศบริเวณนี้มีความเหมาะสมหลายประการกล่าวคือ เป็นสันดอนน้ำไม่ท่วม สามารถตั้งบ้านเรือนสร้างศาสนสถานได้สะดวกดี มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ทั่วไปกับที่ดอนเป็นบริเวณกว้างขวางพอที่จะเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง ประกอบกับเป็นบริเวณอยู่ห่างไกลจากป่าและภูเขาใหญ่ ภูมิอากาศดี ไม่ค่อยมีไข้ป่ารบกวน อีกประการหนึ่ง สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก เพราะอยู่ติดกับทะเล ชุมชนแถบแผ่นดินบกจึงเจริญเติบโตรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมาลายูตอนเหนือไปในที่สุด ศูนย์กลางที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณสทิงพระ เรียกชื่อเมืองว่าสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา(๓) ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นชุมชนนับถือศาสนาฮินดู(๔) มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นของบรรดารัฐต่างๆ ที่เข้มแข็งและมีนโยบายจะควบคุมเส้นทางการค้าที่ผ่านทางคาบสมุทรมาลายูมาตลอดเวลา เช่น รัฐฟูนันลังกาสุกะ ศรีวิชัย(๕)

ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อใดเมืองสทิงพระถูกกองทัพเรือ จากอาณาจักรทะเลใต้ชวา สุมาตรายกมาทำลาย เมืองเสียหายยับเยิน พลเมืองแตกกระจัดกระจายอพยพหนีภัยไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลากันมาก เพราะตัวเมืองอยู่ใกล้ทะเลหลวง คือ ห่างเพียง ๑ กิโลเมตร ทำให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว เมืองสทิงพระจึงอ่อนกำลังลงมาก หลังจากนั้นพวกโจรสลัดยกมาปล้นสดมภ์ และในที่สุดก็สามารถยึดเมืองได้ ทำให้มีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยย้ายไปอยู่บริเวณบางแก้ว หรือปัจจุบันเรียกว่า โคกเมือง อยู่ในอำเภอเขาชัยสน ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว และชื่อเมืองพัทลุงน่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้(๖) คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙(๗)มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ชาวเมืองนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก

ในขณะเดียวกันแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และมีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘(๘)สามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนทั้งแหลมมาลายู โดยปกครองดินแดนในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร(๙) ทำให้เมืองพัทลุงต้องกลายเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้ตรางูเล็กเป็นตราของเมือง(๑๐)และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงก็กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของนครศรีธรรมราชด้วย ดังข้อความในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ รัชสมัยสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า

“นางและเจ้าพระยา (คือนางเลือดขาวและกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทังบางแก้วเล่าแล กุมารก็เสียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธ-รูปเป็นหลายตำบลจะตั้งเมืองมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” (๑๑)

เมืองพัทลุงมีความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราชอย่างใกล้ชิด เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันเพราะแม้เมืองพัทลุงจะขึ้นกับแคว้นนครศรีธรรมราช แต่มีลักษณะเป็นเมืองอิสระในทางการปกครองอยู่มาก สังเกตจากสมุดเพลาตำรากล่าวว่า แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงเก่าครั้งมีชื่อว่า เมืองสทิงพระ ทางฝ่ายอาณาจักรเจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าพญาหรือเจ้าพระยา ทางฝ่ายศาสนจักรเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองพาราณสี แสดงให้เห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มีบริวารมากศูนย์กลางจึงมีฐานะเป็นกรุง คือกรุงสทิงพระคล้ายกับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งทีเดียว และมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก เปรียบได้กับเมืองพาราณสี (ชื่อกรุงที่เป็นราชธานีของแคว้นกาศีของอินเดีย) ส่วนแคว้นนครศรีธรรมราชเปรียบประดุจเป็นเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) ฉะนั้นแคว้นนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงคงจะเคยเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเมืองพัทลุงนั้นติดต่อกับหัวเมืองมอญและลังกามานานไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมาแล้ว พระสงค์คณะลังกาป่าแก้วจึงเจริญมากในบริเวณนี้ วัดสำคัญ ๆ ไม่ว่าวัดสทัง วัดเขียน วัดสทิงพระ วัดพระโค ล้วนขึ้นกับคณะลังกาป่าแก้วทั้งสิ้น(๑๒)

ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ทางแคว้นนครศรีธรรมราชยังคงมีอำนาจแผ่ไปทั่วแหลมมาลายู ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนว่า จักรพรรดิของจีนเคยส่งทูตมาขอร้องอย่าให้สยาม (นครศรีธรรมราช) รุกรานหรือรังแกมาลายู เลย(๑๓)เมืองพัทลุงจึงคงจะยังขึ้นกับแค้วนนครศรีธรรมราชต่อมาอีกกว่าศตวรรษเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมานั้น อาณาเขตของอยุธยายังแคบมาก กล่าวคือ ทิศเหนือจดชัยนาท ทิศตะวันออกจดจันทบุรี ทิศตะวันตกจดตะนาวศรีและทิศใต้จดแค่นครศรีธรรมราช(๑๔)เพิ่งปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลางคือ เมืองหลวงทรงจัดระบบสังคมเป็นรูประบบศักดินา ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง ทรงประกาศใช้พระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีผลกระทบต่อเมืองพัทลุง และแคว้นนครศรีธรรมราช คือ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่ออยุธยา ส่วนเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่ออยุธยาเช่นกัน เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยา ถือศักดินา ๕๐๐๐(๑๕)

สมัยระบบกินเมือง

ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๙๘) ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (พ.ศ.

๒๔๓๙) ระบบกินเมือง หมายถึงระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษี ใช้ไพร่ และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ ทั้งมีสิทธิ์ลงโทษราษฎรตามใจชอบ เจ้าเมืองและกรมการมักเป็นญาติกัน ราชธานีมิได้มีสิทธิ์แต่งตั้งเจ้าเมืองตามทฤษฎีที่กำหนดไว้ เพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้ว, ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง เพื่อป้องกันเหตุร้าย

การปกครองดังกล่าวทำให้ราชธานีพยายามจะลดอำนาจเจ้าเมืองพัทลุง และเข้าไปมีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงตลอดมา โดยในระยะต้นของสมัยระบบกินเมือง อาศัยพุทธศาสนา กล่าวคือ สนับสนุนการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ดึงกำลังคนจากอำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับวัด พระ และเพิ่มชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนา เช่นกรณีภิกษุอินทร์รวบรวมนักบวชราว ๕๐๐ คนขับไล่พม่าที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักร-

พรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) โดยใช้เวทมนตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดปรานมากจึงพระราชทานยศให้เป็นพระครูอินทโมฬีคณะลังกาป่าแก้ว (กาแก้ว) เมืองพัทลุง ควบคุมวัดทั้งในเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถึง ๒๙๘ วัด ทั้งทรงกัลปนาวัด คือกำหนดเขตที่ดินและแรงงานมาขึ้นวัดเขียนและวัดสทังที่พระครูอินทโมฬีบูรณะด้วย(๑๖)

หรือกรณีอุชงคตนะโจรสลัดมาเลย์เข้ามาปล้นโจมตีเมืองพัทลุงเสียหายยับเยิน เมื่อประ-

มาณ พ.ศ. ๒๑๔๑ - ๒๑๔๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(๑๗) ออกเมืองคำเจ้าเมืองหนีเอา ตัวรอด ราษฎรส่วนหนึ่งต้องอพยพหนีไปอยู่ต่างเมือง อีกส่วนหนึ่งถูกพวกโจรกวาดต้อนไปวัดวาอารามก็ถูกเผา ทางราชธานีอ้างว่าศึกเหลือกำลัง จึงมิได้เอาผิดที่เจ้าเมืองทิ้งเมืองและกลับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป (๑๘)แต่ก็มีการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุงอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๑๕๓(๑๙)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกัลปนาวัดจะทำให้อำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชลดน้อยลง เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจควบคุมไพร่พลโดยตรงเฉพาะในบริเวณที่อยู่นอกเขตกัลปนาเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีอำนาจของฝ่ายฆราวาสกับพระสงฆ์สมดุลมากขึ้น มีผลให้เมืองพัทลุงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ติดต่อกับเมืองต่างๆ และรับอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา ส่วนทางฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล(๒๐) จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองไทย เช่น เอกสารของฮอลันดาบันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ว่าอังกฤษและฮอลันดาพยายามแข่งขันกันเข้าผูกขาดชื้อพริกไทยจากเมืองพัทลุงและเมืองในบริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๑๖๓ เวนแฮสเซลพ่อค้าฮอลันดาแนะนำว่า ฮอลันดาควรจะจัดส่งเครื่องราชบรรณาการเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เจ้าเมืองบูร์เดลอง (พัทลุง) และเจ้าเมืองแซงกอรา (สงขลา) เพื่อเอาใจเมืองเหล่านั้นไว้ เพราะสัมพันธ์ภาพกับเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก(๒๑)ความรุ่งเรืองทางการค้านี้ประกอบกับสงครามไทยพม่า ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และการแย่งชิงอำนาจในราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทำให้อำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองมาลายูอ่อนแอลง เช่น เจ้าเมืองปัตตานี นครศรีธรรมราช(๒๒)สงขลาและพัทลุง(๒๓)ประกาศไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของอยุธยา ขณะเดียวกันทางมาเลย์กลับมีกำลังแข็งขึ้นพวกมุสลิมจึงเป็นเจ้าเมืองในแถบหัวเมืองมาลายูมากขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อาทิ พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ตาตุมะระหุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง อาจจะเป็นทั้งเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา (๒๔)

ทางอยุธยาพยายามดึงหัวเมืองดังกล่าวให้ใกล้ชิดกับอยุธยามากขึ้น โดยใช้นโยบายให้คนไทยไปปกครอง และสนับสนุนอุปถัมภ์ตระกูลของคนไทยที่มีผลประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองแหลมมาลายู บางครั้งใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่ได้ผลมากนักในเมืองพัทลุง (๒๕)เพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ยังคงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่นับถือศาสนาอิสลามสืบมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ (๒๖)

เมื่อทางราชธานีเกิดการจราจล ขาดกษัตริย์ปกครอง พวกขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ทางหัวเมืองมาลายูพระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระ เรียกว่าชุมชนเจ้านคร ปกครองหัวเมืองแหลมมาลายูทั้งหมด และดูเหมือนว่าบรรดาหัวเมืองอื่นๆ ก็ยอมรับอำนาจของเจ้านคร (หนู) แต่โดยดี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านคร (หนู) ต้องใช้กำลังเข้าบังคับปราบปรามเมืองหนึ่งเมืองใดเลย แต่ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามเจ้านคร (หนู) ได้สำเร็จแล้วก็โปรดเกล้าให้เจ้านราสุริวงศ์พระญาติปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้รับผิดชอบในการดูแลหัวเมืองแหลมมาลายูแทนราชธานีด้วย(๒๗)ทำให้เมืองพัทลุงกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ คือ ตลอดสมัยเจ้านราสุริวงศ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าเมืองเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง(๒๘)

การกระทำดังกล่าวคงทำให้ตระกูล ณ พัทลุง ต่อต้านเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่ เพราะในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยหลวงศรีวรวัตร(๒๙)(พิณ จันทโรจวงศ์) เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กล่าวว่า นายจันทร์มหาดเล็กเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นั้นว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปีก็ถูกถอดออกจาก ราชการและตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงตกเป็นของตระกูล ณ พัทลุง อีกใน พ.ศ. ๒๓๑๕ และในปีนี้เองพระ-ยาพัทลุง (ขุนหรือคางเหล็ก) ตระกูล ณ พัทลุงได้เปลี่ยนท่าทีใหม่คือ เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ(๓๐) คงจะเนื่องมาจากพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อมใส ในพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลชักชวนให้คนไทยเกิดความเลื่อมใสในศาสนานั้น(๓๑)ปรากฏหลักฐานว่าในที่สุดถึงกับทรงออกประกาศห้ามอย่างเฉียบขาด ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังความตอนหนึ่งว่า

ประกาศของไทย ลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ ๑๖๖๔ (พ.ศ. ๒๓๑๗)

ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาพระมะหะหมัด

มองเซนเยอร์เลอบองเป็นผู้แปล

ด้วยพวกเข้ารีตและพวกถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนาเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย และไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีตและพระมะหะหมัดก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่าถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็จะต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้คนพวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้ พวกนี้ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามไปด้วย… เพราะเหตุฉะนี้จึงห้ามขาดมิไห้ไทยและมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือหญิงเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าไปในพิธีของพวกมะหะหมัดหรือพวกเข้ารีต ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแข็ง เจตนาไม่ได้มืดมัวไปด้วยกิเลสต่างๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศนี้ ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมะหะหมัดและพวกเข้ารีตแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสังฆราชหรือบาทหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เป็นคริสเตียน หรือมะหะหมัดจะต้องคอยห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้นได้เข้าไปในพิธีของพวกคริสเตียน และพวกมะหะหมัดให้เจ้าพนักงานจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีตและมะหะหมัดดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระ และให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต(๓๒)

จริงอยู่แม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนการออกประกาศดังกล่าว แต่พระราชประสงค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชลักษณะนี้คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันดีในหมู่ขุนนางก่อนที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จึงต้องเปลี่ยนศาสนา มิใช่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๓๓๔ - ๒๓๖๐ ยังไม่ยอมให้นำเนื้อหมูเข้ามาในบ้านของท่านแสดงว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ยังนับถือศาสนาอิสลาม เพิ่งจะมีการนับถือพุทธศาสนากันจริงๆ ในชั้นหลานของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) (๓๓)

การเปลี่ยนศาสนาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองมากนัก เพราะตระกูล ณ พัทลุง ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากราชธานี อำนาจและอิทธิพลของเมืองพัทลุงลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนจีนเหยียงหรือหลวง สุวรรณคีรีคนกลุ่มใหม่และต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นเจ้าเมืองสงขลา(๓๔)ทั้งยกเมืองสงขลาเมืองปากน้ำของเมืองพัทลุงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริวงศ์ถึงแก่นิราลัยในปีรุ่งขึ้น ทางราชธานีให้ยกเมืองพัทลุงไปขึ้นตรงต่อราชธานีดังเดิม(๓๕)และสืบไปตลอดสมัยระบบกินเมือง และแม้ว่าพระยา-พัทลุง (คางเหล็ก) จะส่งบุตรธิดาหลายคนไปถวายตัว(๓๖) ทั้งมีความดีความชอบในการทำสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ และกับปัตตานีในปีถัดมา แต่เมื่อพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรม ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกลับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกร-ลาศคนของราชธานีมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง(๓๗)อีก ๒ ปีต่อมายังทรงเพิ่มบทบาทให้เมืองสงขลาเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองประเทศราชมลายู(๓๘)และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ทางราชธานียอมให้ตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงทองขาว) กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีก แต่ก็ส่งนายจุ้ยตระกูลจันทโรจวงศ์ และบุตรของเจ้าพระยาสรินทราชา (จันทร์)(๓๙)ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล ณ นคร เข้ามาเป็นกรมการเมืองพัทลุง (๔๐)เพื่อคานอำนาจของตระกูล ณ พัทลุง ในที่สุดในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๔–๒๓๘๒ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหัวเมืองแหลมมาลายูต้องตกอยู่ในอำนาจของตระกูล ณ นคร ทางราชธานีแต่งตั้งให้พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงเผือก) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๒(๔๑)ขณะเดียวกันตระกูล ณ สงขลา ก็พยายามสร้างอิทธิพลในเมืองพัทลุง โดยพระยาสงขลาเถี้ยนเส้งและบุญสังข์ต่างก็แต่งงานกับคนในตระกูล ณ พัทลุงทั้งคู่(๔๒)

ศาสตราจารย์เวลาอดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยฮาวายตั้งข้อสังเกตว่า การถึงอสัญกรรมของเจ้าพระยานคร (น้อย) ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ ทำให้ราชธานีได้โอกาสจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลงบ้าง(๔๓) เช่น เรียกตัวพระยาไทรบุรี (แสง) และพระเสนานุชิต (นุด) ปลัดเมืองไทรบุรีบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) กลับสนับสนุนให้ตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเพิ่งรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าฝิ่นทางฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลหน้านอก) ของแหลมมลายูขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออกในเขตเมืองชุมพรและไชยา(๔๔) สำหรับที่เมืองพัทลุงนั้น ทางราชธานีเรียกตัวพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) กลับแล้วแต่งตั้งพระปลัด (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะเจ้าเมืองพัทลุงแทน และให้ตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุงเป็นกรมการเมือง เพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ผู้นี้นอกจากจะมีความดีความชอบในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ ๒๓๘๑ อย่างแข็งขันแล้ว ประการสำคัญคือยังเกี่ยวดองกับขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอำนาจสูงยิ่งในขณะนั้นและบังคับบัญชาหัวเมืองแหลมมาลายูในตำแหน่งพระกลาโหมมาเป็นเวลายาวนานด้วย แต่ในที่สุดตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุงกลายเป็นเหมือนตระกูลเดียวกัน และสามารถปกครองเมืองพัทลุงสืบต่อไปตลอดสมัยระบบกินเมือง คงเป็นเพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ไม่มีบุตร จึงรับนายน้อยหลานมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้วสร้างความสัมพันธ์กับตระกูล ณ พัทลุงโดยใช้การแต่งงาน(๔๕)

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุง โดยใช้การแต่งงานนั้นทำให้อำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงกระชับยิ่งขึ้น มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างจริงจัง จนราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยระบบกินเมือง เช่น ในสมัยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ข้าราชการชั้น ผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการแล้วมีความเห็นว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็ก แต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์และมีอำนาจชนิด….“ที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัด แต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฏรอย่างสูงเจียนจะว่าได้ว่าทำอย่างใดกับราษฎรก็แทบจะทำได้….”(๔๖)ส่วนด้านผลประโยชน์เจ้าเมืองและกรมการแบ่งกันเองเป็น ๓ ตอน คือ

ตอนที่ ๑ พระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรภักดีพิริยะพาหะ (น้อย) จางวาง ซึ่งทำหน้าที่กำกับเมืองพัทลุง และพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองสองคนพ่อลูกตระกูลจันทโรจวงศ์ได้ผลประโยชน์จากส่วยรายเฉลี่ย

ตอนที่ ๒ ยกกระบัตรในตระกูล ณ พัทลุง ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากร
ตอนที่ ๓ กรมการผู้น้อย เป็นกรมการของผู้ใดก็จะได้แบ่งปันผลประโยชน์จากทางนั้น

ผลประโยชน์หลักคือ การทำนา เพราะเจ้าเมืองและกรมการมีที่นากว้างใหญ่ทุกคนขายข้าวได้ทีละ

มากๆ โดยไม่ต้องเสียค่านา

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากคุกตะรางอีก เพราะผู้ใดเป็นตุลาการชำระคดี ผู้นั้นจะมีคุกตะรางสำหรับขังนักโทษในศาลของตน จึงมีคุกตะรางถึง ๖ แห่ง โดยแบ่งเป็น ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ๓ แห่ง เป็นของเจ้าเมือง หลวงเมือง หลวงจ่ามหาดไทย และขนาดเล็ก อีก ๓ แห่ง เจ้าเมืองจะเป็นผู้อนุญาตให้คนที่ชอบพอและไว้วางใจได้มีผลประโชยน์ที่จะได้จากการมีคุกตะรางของตัวเองคือ ได้ค่าธรรมเนียม แรงงาน และมีอำนาจในการพิจารณาคดี นักโทษของคุกตะรางใดเป็นดังเช่นทาส ในเรือนนั้นทำให้กรมการเมืองอยากจะมีคุกตะรางเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่มีคุกตะรางก็จะถูกมองว่าไม่เป็น ผู้ดี เป็นคนชั้นต่ำ

สำหรับราษฎร นอกจากต้องเสียค่านาแล้ว ยังถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของทั้งของกินและของใช้อีก โดยเฉลี่ยจะถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้งต่อปี ราษฎรมักต้องยอมเพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองและขุนนางมาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม(๔๗)

สภาพดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางราชธานีเมืองหนักใจมาก(๔๘)ทั้งยังมีปัญหากับเมืองข้างเคียง คือ กับเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชด้วย เพราะกลุ่มผู้ปกครองของเมืองเหล่านี้มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงมักพบว่าเมื่อโจรผู้ร้ายทำโจรกรรมในเมืองสงขลาแล้วหลบหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาขอให้เจ้าเมืองพัทลุงส่งตัวให้ผู้ร้ายไปให้ แต่เจ้าเมืองพัทลุงมักจะเพิกเฉยส่วนโจรผู้ร้ายที่ทำโจรกรรมในแขวงเมืองพัทลุงแล้วหนีเข้าอยู่ในแขวงเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุงขอให้เจ้าเมืองสงขลาส่งตัวผู้ร้ายไปให้ เจ้าเมืองสงขลาก็มักจะเพิกเฉยเช่นกัน(๔๙)หรือกับทางเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นทำนองเดียวกันกับทางเมืองสงขลา (๕๐)

พอจะกล่าวได้ว่าตลอดสมัยระบบกินเมือง แม้ว่าราชธานีพยายามควบคุมเมืองพัทลุงแต่ก็ควบคุมได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะความห่างไกลจากราชธานีทำให้ราชธานีดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองพัทลุงด้วยผลประโยชน์ของราชธานีจึงรั่วไหลไปมาก ประกอบกับในตอนกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่ามองไปทางทิศไหน เห็นอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมที่จะฉวยโอกาสรุกรานเข้ามา โดยเฉพาะทางหัวเมืองแหลมมาลายู อังกฤษถือโอกาสแทรกแชงเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยและคุกคามหัวเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณคอคอดกระตอนเหนือของแหลมมาลายูทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและขยายอิทธิพลทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยรีดจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูเสียใหม่(๕๑)เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชในพ.ศ. ๒๔๓๙ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เมืองพัทลุง “เป็นหัวเมืองบังคับยาก”(๕๒)เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงทรงรวมหัวเมืองเหล่านี้เข้าเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ตั้งศูนย์การปกครองที่เมืองสงขลา โดยทรงมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

สมัยระบบเทศาภิบาล

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๗๖ ช่วงนี้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในการปกครองของมณฑล

นครศรีธรรมราช สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพยายามทำลายอำนาจและอิทธิพลของตระกูลจัน-ทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี

การดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีหลักการปกครองอยู่ว่า อำนาจจะต้องเข้ามารวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมดรัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองขึ้นอยู่กันเพียง ๓ กระทรวงคือ กรมมหาดไทย กรมกลาโหม และกรมท่า และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่างๆ มีอำนาจอย่างที่เคยมีมาในสมัยระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล

หลักต่างๆ ของการปกครองตามระบบเทศาภิบาลที่ระบุไว้ในประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และในข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตามกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มจัดส่วนราชการบริหารตามแบบใหม่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุดดังนี้

ชั้นที่ ๑ การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง

ชั้นที่ ๒ การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง

ชั้นที่ ๓ การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง

ชั้นที่ ๔ การปกครองเมือง มีผู้ว่าราชการเมืองปกครอง

ชั้นที่ ๕ การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง

การวางสายการปกครองเป็นลำดับชั้นกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเก่าใน หัวเมืองไปเป็นอีกรูปหนึ่ง ราษฎรซึ่งไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง เคยเป็นเพียงบ่าวไพร่ก็ได้มีโอกาสเลือก ผู้ใหญ่บ้าน กำนันขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเท่ากับได้มีโอกาสเสนอความต้องการของตนเองให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการเมืองทราบ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองหรือพวกพ้องที่เคยทำอะไรตามใจชอบก็กระทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีข้าหลวงเทศาภิบาลมาคอยดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล การกินเมือง ซึ่งเคย “กิน” จากภาษีทุกอย่างต้องกลับกลายเป็นเพียง “กิน” เฉพาะเงินเดือนพระราชทานในฐานะ ข้าราชการ เพราะรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีเองและเมื่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมืองมีฐานะเป็นข้าราชการ ก็ต้องถูกย้ายไปตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ผักพันเป็นเจ้าเมืองเจ้าของชีวิตของชาวชนบทอยู่เพียงแห่งเดียวตามระบบเดิม กำนันผู้ใหญ่จะได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ส่วนลดจากการเก็บค่านา ค่าน้ำ ค่าราชการ (๕๓)

อนึ่งการปกครองในระบบเทศาภิบาล รัฐบาลยังต้องการให้ราษฎรมีความผูกพันกับรัฐบาล

และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ รัฐบาลใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยมอบหมายให้จัดเป็นสถานศึกษา เพราะจัดเป็นองค์กรที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั่วพระราชอาณาจักรโดยไม่ต้องเปลืองเงินทองของรัฐในการก่อสร้าง และเป็นแหล่งจูงใจให้ราษฎรเข้ามาเรียนหนังสือได้(๕๔)และมอบหมายให้กรมหมื่นวชิรญานวโรรสพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระราชาคณะธรรมยุติกนิกายรับผิดชอบร่วมกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าธรรม-ยุติกนิกายเป็นตัวแทนของรัฐฝ่ายสงฆ์ส่วนตัวแทนฝ่ายฆราวาสคือกระทรวงมหาดไทย หรือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทั้งสองพระองค์จึงทรงกำหนดแบบแผนเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร คือ ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน และมีผู้อำนวยการสงฆ์เป็นผู้ตรวจตราและจัดการภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาล (๕๕)

ที่เมืองพัทลุง พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการปก

ครองตามแบบแผนทุกระดับ ที่สำคัญคือ ให้สร้างที่ว่าราชการเมืองขึ้น เพื่อให้ผู้ช่วยราชการเมืองและกรมการไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับงานส่วนตัวเหมือนอย่างในสมัยระบบกินเมือง(๕๖)แต่การคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น รัฐบาลใช้ปะปนกันทั้งคนเก่าและคนใหม่ตลาดสมัยระบบเทศาภิบาล พอจะแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ

ระยะแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๒ รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม กล่าวคือ ในระยะ ๕-๖ ปีแรก ยอมให้เชื้อสายตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ข้าราชการในระบบเก่ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง เช่น ให้พระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ช่วยราชการเมือง แต่ก็ให้พระพิศาลสงคราม(สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรีเป็นผู้ช่วยราชการเมือง (๕๗)รับผิดชอบแผนกสรรพากรหรือดูแลการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็จัดให้พระอาณาจักร์บริบาล (อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์มาแทน (๕๘)คงเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินเดือนสำหรับข้าราชการประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พระยา-สุขุมนัยวินิตจำต้องถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ปกครองเดิม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมีเงินมาก(๕๙)แต่ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย) จางวางซึ่งเป็นคนหัวเก่า(๖๐)ถึงอนิจกรรมรัฐบาลก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) ผู้ว่าราชการเมืองลงเป็นจางวาง หลังจากนี้รัฐบาลพยายามแต่งตั้งเชื้อสายและพวกพ้องของตระกูลเจ้าเมืองในแหลมมลายูในสมัยระบบกินเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงแทนตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ -๒๔๔๙ โดยผลัดเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถึง ๔ คน(๖๑) คือ พระสุรฤทธิ์ภักดี (คอยู่ตี่ ณ ระนอง) บุตรชายพระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) อดีตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรและหลานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมปี๊) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ)บุตรเขยของพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) และพระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ตามลำดับ จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง โจรผู้ร้ายลักโคกระบือทั่วเขตเมืองพัทลุงจนทางราชการระงับไม่อยู่ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสเมืองพัทลุง พระกาญจนดิฐบดีถูกปลดออกจากราชการในปีนั้นเอง(๖๒)

ระยะหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒– ๒๔๗๖ ดูเหมือนว่าเป็นระยะที่รัฐบาลใช้มาตรการค่อนข้างเด็ดขาดเพื่อลดอิทธิพลของตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ที่ยังหลงเหลืออยู่อีก โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง(๖๓)เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก) เนติบัณฑิต หลวงวิชิตเสนี (หงวน ศตะรัตน์) เนติบัณฑิต ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบหนักจนดูราวกับว่าเมืองพัทลุงกลายเป็นอาณาจักรโจร โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๖๖(๖๔)สมัยพระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (๖๕) มีขุนโจรหลายคนที่สำคัญ อาทิ นายรุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้าโจรได้รับฉายาว่า ขุนพัฒน์หรือขุนพัทลุง นายดำหัวแพร เป็นรองหัวหน้า ได้รับฉายาว่า เจ้าฟ้าร่มเขียวหรือขุนอัสดงคต ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี ทำให้การปล้นฆ่าสงบลงอีกวาระหนึ่ง แต่ปีถัดมารัฐบาลสั่งให้ย้ายศูนย์ปกครอง(๖๖)จากตำบลลำปำมาตั้งที่บ้าน วังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์(๖๗) อาจเป็นเพราะทางราชการเกิดความระแวงว่าตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง มีส่วนร่วมกับพวกโจรจึงต้องการทำลายอิทธิพลของสองตระกูลนั้นในเขตตำบลลำปำ และสร้างศูนย์การปกครองแห่งใหม่ให้เป็นเขตของรัฐบาลอย่างแท้จริง ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้วการคมนาคมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียงจึงสะดวกกว่าที่ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ ประชาชนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายมากขึ้น(๖๘)

สมัยระบบประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-ปัจจุบัน)

เมื่อมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระ

มหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลใหม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ

ว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป

ส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น จังหวัดพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในอาณาจักรไทย

ตามระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหาร

ราชการแผ่นดิน มีผู้บริหารเป็นคณะเรียกว่า คณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดโดยข้าหลวงประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธาน แต่คณะกรมการจังหวัดจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวงทบวงกรมที่ตนสังกัด(๖๙) สำหรับอำเภอก็มีคณะบริหาร เรียกว่าคณะกรมการอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่คณะกรมการอำเภอจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนสังกัด (๗๐)

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนั้นอำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงบุคคลเดียวและฐานะของกรมการจังหวัดก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินในจังหวัดก็ได้แก้ไขเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดนั้น ได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอ ขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินใน

จังหวัด ซึ่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้

clip_image001

๖๙) ศีรี วิชิตตะกุล, การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค (พระนคร : โรงเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๔๙๘),หน้า ๒๗.

(๗๐) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๘-๒๙.

clip_image002

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพัทลุง.พัทลุง : โรงพิมพ์พัทลุง , ๒๕๒๗.


(๑) โปรดดูรายละเอียดในศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง,โบราณวิทยาเมืองพัทลุง

(พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, ๒๕๒๕ ), หน้า ๒๐-๒๑.

(๒) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ "สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา"

เอกสารการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เอกสารหมายเลข ๐๐๒,หน้า ๓.

(๓) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓-๔.

(๔) ศรีศักร วัลลิโภดม “ชุมชนแรกเริ่มสมัยประวัติศาสตร์บริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณใกล้เคียง เอกสารการ

สัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ๘–๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เอกสารเหมายเลข ๐๐๙, หน้า ๕.

(๕) สงบ ส่งเมือง, การพัฒนาหัวเมืองสงขลาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๑๐–

๒๔๔๔) (สงขลา : โครงการบริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา,๒๕๒๓), หน้า ๒๓.

(๖) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา” หน้า ๔.

(๗) ชัยวุฒิ พิยะกูล, ชำระเพลาบางเลือดขาว (พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง,๒๕๒๕),หน้า ๓๗.

(๘) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “ตามพรลิงค์” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓,หน้า ฆ.

(๙) A. Teeus and David K. Wyatt, Hikayat Patani : The History of Patani Vol. I (The Hague : Martinus Nijhoff, 1970),P.3.

(๑๐) กรมศิลปากร, ผู้รวบรวม, “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๕๐๕, หน้า ๕๑.

(๑๑) สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ "หลักที่ ๓๕ ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง" ประชุมิลาจารึกภาคที่ ๓ (พระนครสำทักทำเนียบนายกรัฐมนตรี,๒๕๐๘),หน้า ๑๗.

(๑๒) ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ "สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา" หน้า ๘-๙.

(๑๓) ศรีศักร วิลลิโภดม, "นครศรีธรรมราชกับประวัติศาสตร์ไทย" ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช

ชุดที่ ๒ (จัดพิมพ์เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๕),หน้า ๑๐๗.

(๑๔) Charnvit Kasetsiri, The Rise of Ayudhya (Kuala Lumper : Oxford University Press, 1976),P.140

(๑๕) กรมศิลปากร, ผู้รวบรวม, เรื่องกฎหมายตราสามดวง (กรุงเทพ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๑), หน้า ๑๗๖ พระอัยการ

ตำแหน่งทหารหัวเมือง มาตรา ๓๑.

(๑๖) หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ : พงศาวดารเมืองพัทลุง (พระนคร : ศึกษาภัณฑ์

พาณิชย์, ๒๕๐๗),หน้า ๑๐-๑๔.

(๑๗) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม หน้า ๓๓.

(๑๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม , หน้า ๒๐–๒๑.

(๑๙) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒–๒๕, สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค ๑

(พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ,๒๕๑๐), หน้า ๖๗ -๖๘.

(๒๐)ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ “สภาพการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของดินแดนรอบทะเลสาบสงขลา” หน้า ๗

(๒๑) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม, หน้า ๓๕–๓๖.

(๒๒) สมโชติ อ๋องสกุล, “ความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับหัวเมืองใกล้เคียง : ศึกษาเฉพาะกรณีความสัมพันธ์ ทางการปกครองระหว่างนครศรีธรรมราชกับปัตตานี” ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ หน้า ๑๑๐–๑๑๓.

(๒๓) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๓๖–๓๗.

(๒๔) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๒๕ พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน ฌาปนกิจศพคุณหญิงแข เพ็ชราภิบาล (แข ณ สงขลา,๒๕๐๕),หน้า ๑-๒.

(๒๕) ) ลอเรน เกสิค, “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย (๒๓๑๐–๒๓๘๓) เก็บความโดยยุพาชุมจันทร์ วารสาร

ธรรมศาสตร์ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (ตุลาคม ๒๕๑๗ - มกราคม ๒๕๑๘), หน้า ๒๒.

(๒๖) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๒๙–๓๑.

(๒๗) สุภาภรณ์ ตัณศลารักษ์, “บทบาทของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่มีต่อรัฐบาลกลางและหัวเมืองภาคใต้ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๐, หน้า ๓๙.

(๒๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๓.

(๒๙) หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เป็นเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุงด้วย เขียงพงศาวดารเมืองพัทลุงขึ้นใน พ.ศ.

๒๔๕๘–๒๔๖๐ โดยพยายามใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ในคำนำกล่าวถึงข้อมูลที่ใช้ประกอบคือ ตำนานวัด บันทึก

ต่าง ๆ บันทึกของผู้ปกครอง ชีวประวัติและงานเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ซึ่งส่วน หนึ่งเป็นพงศาวดารเมืองพัทลุง (พิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๓ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๑๕ เขียนโดยหมื่นสนิทภิรมย์ ปลัดกรมในกรมหมื่นไกรสรวิชิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดากลิ่นธิดาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) เจ้าเมืองพัทลุงใน รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พงศาวดารเมืองพัทลุงฉบับของ หมื่นสนิทภิรมย์นี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสั่งให้เขียนขึ้นในโอกาสที่มีการแต่งตั้งหลวงเทพภักดียกระบัตร (ทัน) หลานของปู่พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ขึ้นเป็นพระยาพัทลุงในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ หมื่นสนิทภิรมย์เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของเจ้าจอมมารดากลิ่น และน้องสาวของท่านคือ คุณฉิม,แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๓๙๓.

(๓๐) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๓

(๓๑) รัชนี สาดเปรม, “บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๔๕๓ “ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๒๑, หน้า ๔๓

(๓๒) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓–๔๔ อ้างถึง ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙, หน้า ๔๖๕–๔๖๖.

(๓๓) สัมภาษณ์นายแส รัตนพันธุ์ เชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง สายพระยาพัทลุงทองขาว อายุ ๘๔ ปี วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๔.๓๐ น. ณ บ้านเลขที่ ๓/๒๓๐ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑ ถนนแจ้งวัฒนะ บางเขน กรุงเทพฯ.

(๓๔) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๑๖๓.

(๓๕) อรียา เสถียรสุต, “เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสมัยปกครองแบบเก่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๓๕

“วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๑๔, หน้า ๓๗.

(๓๖) พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง, หน้า ๔.

(๓๗) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๓๗–๔๐.

(๓๘) สงบ ส่งเมือง, เรื่องเดิม, หน้า ๑๒๖.

(๓๙) ผู้กำกับราชการหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายูหรือทะเลหน้านอก ๘ เมืองคือ เมือง ถลาง ภูเก็ต ตะกั่วป่า

ตะกั่วทุ่ง ก็รา พังงา คุระ และคุรอต.

(๔๐) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๔๓.

(๔๑) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๗–๕๕.

(๔๒) ลอเรน เกสิค, เรื่องเดิม, หน้า ๒๙.

(๔๓) วอลเตอร์ เอฟ เวลลา แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ แปลโดยนิจ ทองโสภิต (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ สมาคมสังคมศาสตร์

แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๔), หน้า ๑๕๐.

(๔๔) สารูป ฤทธิ์ชู, “การเมืองการปกครองของมณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๖๙ “วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท บัณฑิต

วิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๖, หน้า ๒๕.

(๔๕) โปรดดูรายละเอียดใน พงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง, หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม หน้า ๕๖–๗๗.

(๔๖) ) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชการที่ ๕ ม.๒.๑๔/๒๒ รายงานพระยาสฤษดิ์เรื่องตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗).

(๔๗) เรื่องเดียวกัน.

(๔๘) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๒.๑๔/๑๐๐ (ลับ) พระวิจิตรวรสาส์น กราบทูลกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

ที่ ๒๓/๑๑๔ ๑๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๔.

(๔๙) ) หอจดหมายเหตุชาติ ร.๕ ม.๒๑/๒๐ เรื่องเขตแดนเมืองพัทลุงกับเมืองสงขลาที่คาบเกี่ยวกันให้เปลี่ยนตำบลกันเสีย มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๓, ร.๕ ม.๒.๑๔/๙๘ รายงานเจ้าพระยาเทเวศรไปตรวจราชการทางเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองกลันตัน ร.ศ. ๑๑๓.

(๕๐) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๒.๑/๑๙ เรื่องเมืองพัทลุงขอที่ละเลน้อย บ้านหัวป่า บ้านตะเครียะ มาเป็นแขวงเมืองพัทลุงตามเดิม ๔ พฤศจิกายน -๕ กันยายน ร.ศ. ๑๑๒.

(๕๑) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๔ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ๑๕๕๐/๓๘๐๐๓ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๑๔.

(๕๒) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๙ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗.

(๕๓) ) แถมสุข นุ่มนนท์ “การปกครองสมัยโบราณ” การเมืองและการต่างประเทศในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๒๔), หน้า ๙–๑๐.

(๕๔) วารุณี โอสถารมย์, “การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. ๒๔๑๑ -๒๔๗๕“ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔, หน้า ๑๐๗.

(๕๕) สารูป ฤทธิ์ชู, เรื่องเดิม, หน้า ๘๒.

(๕๖) ) ณรงค์ นุ่นทอง “การปฏิรูปการปกครองมณฑลนครศรีธรรมราช ในสมัยพระยาสุขุมวินิตเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๔๙) “มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ (กรุงเทพ) : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๔), หน้า ๓๓๙–๓๔๐.

(๕๗) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม. ๔๗/๑๙ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗, หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓–๗๔.

(๕๘) หลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓–๗๔.

(๕๙) เดช บุนนาค, “การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบปฏิวัติหรือวิวัฒนาการ” มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า ๒๕–๒๖.

(๖๐) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๔๗/๑๔ (สำเนา) พระยาวิจิตรวรสาส์น กราบทูลกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ที่ ๒๕๒ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔.

(๖๑) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารเย็บเล่มชุดฎีกา เล่ม ๓๑ ร.ศ. ๑๓๔ (พ.ศ. ๒๔๕๘ เล่ม ๓) เลขที่ ๖๙ ฎีกาอำมาตย์โท พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ขอเข้ารับราชการแก้ตัว,หน้า ๑๑๙๘–๑๒๐๖, หลวงศรีวรรัตร, เรื่องเดิม, หน้า๗๗–๗๘.

(๖๒) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารเย็บเล่มชุดฎีกา เล่ม ๓๑ ร.ศ. ๑๓๔ (พ.ศ. ๒๔๕๘ เล่ม ๓) เลขที่ ๖๙ (สำเนา) พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๕๘.

(๖๓) โปรดดูรายละเอียดในหลวงศรีวรวัตร, เรื่องเดิม, หน้า ๗๘–๘๔.

(๖๔) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓, พิมประภา แกล้วทนงค์, "ครูเก่าเล่าความหวัง" คืนสู่เหย้า ๕๐ ปีสตรีพัทลุง (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๒๗) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานคืนสู่เหย้า ๕๐ ปี สตรีพัทลุง ๙ มิถุนายน ๒๕๒๗, หน้า ๒๙.

(๖๕) ) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัดและเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด.

(๖๖) ศูนย์การปกครองของเมืองพัทลุง มีการโยกย้ายหลายครั้ง เรียงตามลำดับดังนี้ คือ โคกเมืองบางแก้ว เมืองพระรถ บ้านควรแร่ เขาเมือง ท่าเสม็ด บ้านพญาขันธ์ บ้านม่วง โคกลุง ศาลาโต๊ะวัก ลำปำ (ฝั่งเหนือคลองลำปำ) อ้างจาก ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนพัทลุง, เรื่องเดิม.

(๖๗) หลวงศรีวรวัตร,เรื่องเดิม,หน้า ๘๓-๘๔.

(๖๘) เรื่องเดิม, หน้า ๘๐.